วันที่ 2 ก.พ. ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ว่า กทม.ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต(ศปท.กทม.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยผู้ว่าฯ กทม. เป็นหัวหน้าศูนย์ และศูนย์ดังกล่าวได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริต (ศตท.กทม.) โดยมีรองปลัด กทม. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการลงพื้นที่ในเรื่องพิเศษ (เฉพาะกิจ) ในการสอบสวนจับกุม (ถ้ามี) นอกจากนี้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้งในเชิงพื้นที่ หรือเชิงภารกิจ เพื่อแต่งตั้งให้มีผู้เชี่ยวชาญร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับแจ้ง เพื่อขยายผล ตลอดจนวางแผนจับกุม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งวอร์รูม ศตท.กทม. ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ชั้น 5 ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า โดยขั้นตอนการปฏิบัติงานของศูนย์จะรับเรื่องจากเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดยรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแส จากนั้นจะมีการตรวจสอบข้อมูลการทุจริตเบื้องต้น ร่วมกับหน่วยงานอื่น ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบ ขยายผล จับกุม เพื่อดำเนินคดีอาญา และดำเนินการตามมาตรการทางบริหารควบคู่กัน โดยการย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งได้จัดสรรให้ประจำที่สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร ไว้ 20 ตำแหน่งแบ่งเป็น ระดับชำนาญการพิเศษ (หัวหน้าฝ่าย) จำนวน 12 ตำแหน่ง ระดับอำนวยการระดับต้น เป็นต้นไป (ผู้อำนวยการสำนักงาน-ผอ.เขต) จำนวน 6 ตำแหน่ง และระดับบริหารเป็นต้นไป (ผอ.สำนัก) จำนวน 2 ตำแหน่ง หรือให้ช่วยราชการที่หน่วยอื่น และดำเนินการวินัยร้ายแรง โดยสั่งพักราชการ และให้ออกจากกราชการไว้ก่อน ทั้งนี้ หากผู้ใดมีข้อมูล สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ หมายเลขโทรศัพท์1555 หรือส่งจดหมายถึงผู้ว่าฯกทม.ตามที่อยู่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับประเภทการร้องเรียน ประกอบด้วย การจัดซื้อจัดจ้าง, เรียกรับผลประโยชน์, ยักยอกเงินการเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่างๆ, นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว, เบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว, จัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานที่เข้าข่ายการทุจริต, การจ่ายเงินต่างๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต, การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาเข้าข่ายการทุจริต, การแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย และกรณีทุจริตอื่นๆ 

สำหรับหน่วยงานและส่วนราชการที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประกอบด้วย สายงานโยธา สายงานเทศกิจ สายงานรายได้สายงานสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัย มี 2 กรณี คือ ไล่ออก จะถูกตัดสิทธิ์สวัสดิการทุกอย่างทั้งบำเหน็จบำนาญ สิทธิ์การรักษาพยาบาลและสวัสดิการอื่นๆ ส่วนการปลดออก จะยังคงได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการต่างๆ

ส่วนกรณีมีผู้ยินยอมจ่ายเพื่อทำให้ถูกต้อง ผู้ที่จ่ายจะมีความผิดอาญา ในข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน ดังนั้นกทม.จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจจับกุม ทำได้เพียงแจ้งเบาะแสเท่านั้น