ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ภายหลังจากการเยือนเกาหลีใต้ ของนายลอยด์ ออสตินรัฐมนตรีกลาโหม สหรัฐฯ ในวันอังคารที่ผ่านมา และมีจุดหมายต่อไป คือการเยือนฟิลิปปินส์

ทั้งนี้วอชิงตันมีแผนที่จะเกลี้ยกล่อมให้มนิลายินยอมให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพเพิ่มอีก 4 แห่ง และแน่นอนเนื้อหาของการพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ เอ็มมานูเอล เอดราลิน มาร์กอส จูเนียร์ ก็คือภัยคุกคามจากจีน และข้อขัดแย้งในเขตทับซ้อนทางเศรษฐกิจที่จีนมีกับหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งฟิลิปปินส์

ในจำนวนฐานทัพทั้ง 4 แห่งนั้น แห่งหนึ่งอยู่บนเกาะลูซอน เกาะใหญ่ที่สุด และเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ และอีกแห่งอยู่ที่เกาะพาลาวัน ที่นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เคยมาเยือนแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว

ฐานทัพทั้ง 2 ใน 4 นี้นับว่าอยู่ใกล้กับเกาะนานชา ของไต้หวัน และเป้าหมายของสหรัฐฯก็ชัดเจนนั่นคือการปิดล้อมจีน หลังจากได้จัดตั้งหน่วยทหารนาวิกโยธินเคลื่อนที่เร็ว รักษาชายหาดโดยจัดเป็นแนว 3 แนว คือ แนวแรกอยู่ที่เกาะโอกินาวา แนวที่สองอยู่ที่เกาะกวม และแนวที่ 3 ที่เป็นศูนย์บัญชาการอยู่ที่ฮาวาย นอกจากนี้สหรัฐฯยังเชื่อมโยงศูนย์บัญชาการอินโดแปซิฟิก ที่ฮาวายกับฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ที่โยโกตะ โยโกฮามา ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสหรัฐฯมีฐานทัพในฟิลิปปินส์อยู่แล้วถึง 5 แห่ง โดยเป็นฐานเคลื่อนที่หมุนเวียน ส่วนที่ฐานทัพอากาศคลาคและฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิก ก็ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกองกำลังของสหรัฐฯอยู่ และพร้อมให้สหรัฐฯใช้เมื่อถึงคราวจำเป็น

การมีฐานทัพเพิ่มอีก 4 แห่ง จะทำให้ความร่วมมือทางทหารของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น และนั่นคือ เป้าหมายที่สหรัฐฯต้องการ โดยสหรัฐฯได้ทุ่มเททั้งการดำเนินงานทางการเมืองระหว่างประเทศ และการประสานงานกับการเมืองภายใน ตลอดจนการทุ่มเทงบประมาณเพื่อช่วยให้ฟิลิปปินส์ใช้จ่ายในการตอบคำถามของประชาชนที่อาจไม่เห็นด้วยและออกมาคัดค้านได้

หลังจากมาร์กอส จูเนียร์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ติดต่อไปแสดงความยินดี นั่นย่อมแสดงว่าสหรัฐฯตั้งเป้าไว้ที่จะใช้ฟิลิปปินส์เป็นจุดสำคัญในการกระชับวงล้อมจีน

นอกจากนี้ยังได้ส่งนางกมลา แฮร์รีส ไปเยือนฟิลิปปินส์ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ภายหลังจากที่มีเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ไปเยือนหลายครั้ง

และถ้าสหรัฐฯสาชมารถโน้มน้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ลงนามในข้อตกลงก็นับว่าสหรัฐฯประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย ที่จะกระชับวงล้อมจีนเข้าไปอีก

แต่นั่นก็เท่ากับทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญหน้ากับจีนโดยตรง และเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของฟิลิปปินส์ ในยามที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์พยายามที่จะลดทอนการครอบงำทางทหารจากสหรัฐฯ โดยการประกาศอธิปไตยเหนือฐานทัพที่สหรัฐฯเคยไปจัดตั้ง และเป็นฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามเวียดนาม

ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ เองก็พยายามที่จะใช้นโยบายนุ่มนวลที่จะดำเนินการกับจีน และลดการกระทบกระทั่งที่เกิดจากข้อพิพาทในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีเรือประมงของฟิลิปปินส์กับกองกำลังลาดตระเวนของจีนในเขตเส้นประเก้าเส้นที่จีนร่างขึ้นมาโดยพลการ

สหรัฐฯจึงพยายามดึงเอาฟิลิปปินส์เข้าสู่บ่วงของความขัดแย้ง โดยอ้างว่าฟิลิปปินส์นั้นวิตกกังวลต่อวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งในความเป็นจริงฟิลิปปินส์ต้องการให้มีการตกลงกันได้โดยสันติวิธี และสนับสนุนนโยบายจีนเดียว

และแม้ว่าฟิลิปปินส์ในสภาพปัจจุบันต้องถือได้ว่าเป็นพันธมิตรทางทหารของสหรัฐฯอยู่แล้ว การเพิ่มเติมฐานทัพอีก 4 แห่ง จึงเป็นการผลักดันฟิลิปปินส์หากตกลงยินยอมให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาจีนและฟิลิปปินส์ได้พยายามที่จะเปิดให้มีการเจรจาแบบทวิภาคี ในกรณีพื้นที่ทับซ้อนมาแล้ว

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว มาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ก็เริ่มมีนโยบายเข้มงวดต่อพื้นที่ทับซ้อนที่มีความขัดแย้งในเขตทะเลรอบเกาะบอเนียว นั่นคือพื้นที่ชายฝั่งและผืนทะเลของซาราวัก โดยมาเลเซียได้ส่งกองกำลังติดอาวุธไปคุมเชิงการลาดตระเวนของจีนตามแนวเส้นประเก้าเส้นดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย เราเคยมีประสบการณ์ในการให้สหรัฐฯใช้พื้นที่ในการตั้งฐานทัพ ที่อู่ตะเภา ที่ค่ายรามสูรสนามบินจังหวัดอุดรธานี และที่พยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์มาแล้ว จนเมื่อถึงยุคที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ขอคืนพื้นที่จนไม่มีฐานทัพที่เป็นทางการปรากฏอีกต่อไป แม้จะมีข่าวลือว่ามีฐานทัพลับก็เป็นเพียงข่าวลือ ไม่มีหลักฐานอะไร

ล่าสุดสหรัฐฯได้ทุ่มเงินก่อสร้างสถานกงสุลที่เชียงใหม่ใหญ่โต และซับซ้อนก็มีข่าวลือกันว่าจะใช้เป็นฐานในการทำการจารกรรมจีนทางใต้

ประการสุดท้ายในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐฯจะมีเป้าประสงค์ในการจัดตั้งฐานทัพในประเทศไทยอีกครั้ง และถ้ามันเป็นอย่างนั้นรัฐบาลไทยควรมีท่าทีอย่างไร

และสหรัฐฯหากมีเป้าประสงค์ที่จริงจังจะยอมทุ่มเทเหมือนกับที่ได้ทุ่มเทกับรัฐบาลฟิลิปปินส์หรือไม่ ยิ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใกล้เลือกตั้งแบบนี้ อาจจะมีการพิจารณาแบบฉุกละหุกไม่รอบคอบรัดกุม ทำให้ประเทศไทยต้องมีความเสี่ยงอย่างที่ไม่ควรจะเป็นหรือไม่