ด้วยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบการประกาศ “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว  อย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า” ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้นำเสนอ โดยพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุม 6 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลทรงคนอง ตำบล    บางกระสอบ ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกะเจ้า และตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง รวมเนื้อที่ประมาณ 19.95 ตร.กม. หรือ 12,250 ไร่  โดยมอบหมายให้ อพท. ไปดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า นำเสนอ ท.ท.ช. ต่อไป

อพท.ประสานการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กล่าวว่า คุ้งบางกะเจ้า เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหญ่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวในแต่ละปีจำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแนวทาง BCG โมเดล ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีความเสื่อมโทรมหลายด้าน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษ

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

จากผลการศึกษา พบประเด็นปัญหาสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเสื่อมโทรม ทำให้พื้นที่สีเขียวลดจำนวนลง ด้านการบริหารจัดการ พื้นที่ริมน้ำมีปัญหาขยะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการ และชุมชนไม่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ไม่ชัดเจน และด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ พบว่า เส้นทางการท่องเที่ยวไม่ได้รับการพัฒนา กิจกรรมไม่มีความดึงดูดใจ ผลิตภัณฑ์และสินค้าทางการท่องเที่ยวยังขาดการประชาสัมพันธ์และกลยุทธ์ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว

ซึ่งภายหลังจากการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ อพท. จะเข้าไปเป็นหน่วยงานกลางในการประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน  หน่วยงานสามารถใช้ศักยภาพและอำนาจหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่  โดย อพท. จะเป็นผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้แต่ละหน่วยดำเนินงาน

กรอบการทำงานใช้เกณฑ์ระดับโลก

ด้าน นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. จะดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายพัฒนาและยกระดับให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC เป็นกรอบการทำงาน ใช้องค์ความรู้ด้านมาตรฐาน   การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) และมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) ถ่ายทอดให้กับชุมชนและท้องถิ่น

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี

โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างมีเอกภาพ ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคชุมชนและภาคประชาสังคม ภายใต้การมีส่วนร่วม   Co-Creation คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ และเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีความสมดุลในทุกมิติ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ