วันที่ 1 ก.พ.66 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าระหว่าง 12-129 ไมโครกรัม (มคก./ลบ.ม.) พบเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ใน 56 พื้นที่ และระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม นครพนม เชียงใหม่ และลำพูน โดยคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2566 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีแนวโน้มค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศปิดและนิ่ง รวมทั้งมีการเผาที่โล่ง

สำหรับค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างชัดเจน เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย รวมถึง อาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ซึ่งผลจากการประเมินตนเองของประชาชน ผ่านระบบ 4Health พบว่า ประชาชนที่มีอาการทางด้านสุขภาพจากค่าฝุ่นสูง ถึงร้อยละ 70  โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 – 14 ปี กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ระหว่างวันที่ 1 – 4 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นพิเศษ โดยการปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้ 1) สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51 - 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 2) สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป) ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน 


ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่เสี่ยงสูง ควรติดตามรายงานคุณภาพอากาศ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ เช่น งดการเข้าแถวหน้าเสาธง งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างในช่วงฝุ่นสูง งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น และเฝ้าระวังอาการเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืดเป็นพิเศษ และหากมีอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์