รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 74,401 คน ตายเพิ่ม 579 คน รวมแล้วติดไป 674,963,183 คน เสียชีวิตรวม 6,760,222 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ บราซิล และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 56.92
...สถิติการเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนจากโรคโควิด-19 ในอเมริกา
Flaxman S และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open เมื่อ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยทำการดูสถิติการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของเด็กและวัยรุ่น อายุ 0-19 ปี ตั้งแต่เมษายน 2563 ถึงสิงหาคม 2565 และทำการเปรียบเทียบกับสถิติการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ในปี 2562, 2563, และ 2564
ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า โรคโควิด-19 เป็นสาเหตุทำให้เด็กและเยาวชนเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 8 จากทุกสาเหตุ
และจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 5 หากไม่นับรวมเรื่องการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บ การถูกทำร้าย และการฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคโควิด-19 เป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อหรือโรคระบบทางเดินหายใจ
ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นภาพจริง เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ในเด็กและเยาวชน และตอกย้ำให้เราทุกคนเห็นถึงความสำคัญในการดูแลลูกหลาน ป้องกันการติดเชื้อ ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน การใส่หน้ากาก รวมถึงการช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ทั้งที่บ้าน และสถานศึกษา
...Long COVID ในเด็ก ของประเทศอาร์เจนติน่า
Seery V และคณะเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Internationa Journal of Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 31 มกราคม 2566
สาระสำคัญคือ ในช่วงสองปีแรกของการระบาด พบว่ามีอัตราความชุกของภาวะ Long COVID ในเด็กที่ติดเชื้อ สูงราวหนึ่งในสาม โดยเด็กที่ติดเชื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบบมีอาการหรือไม่มีอาการ ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้
ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงของ Long COVID ในประเทศอื่นๆที่เคยมีมา แม้จะเป็นการศึกษาที่ทำในกลุ่มที่ติดเชื้อก่อนช่วง Omicron ระบาดก็ตาม ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดตามมาระยะยาวหลังติดเชื้อ
...สำหรับไทยเรานั้น
การใช้ชีวิตประจำวันควรดำเนินไปด้วยความไม่ประมาท ระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Flaxman S et al. Assessment of COVID-19 as the Underlying Cause of Death Among Children and Young People Aged 0 to 19 Years in the US. JAMA Netw Open. 30 January 2023.
2. Seery V et al. Persistent symptoms after COVID-19 in children and adolescents from Argentina. International Journal of Infectious Diseases. 31 January 2023.