วันที่ 31 ม.ค.66 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า..
โควิด 19 ประสิทธิภาพการดูแลรวมทั้งวัคซีน กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
เมื่อเวลาผ่านมาถึง 3 ปี การระบาดของโรค และการใช้วัคซีน ความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตในแต่ละประเทศ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าวัคซีนคือ การดูแลตนเอง สุขอนามัย mask กำหนดระยะห่าง
ประเทศที่ใช้วัคซีนหลักเป็นเชื้อตาย เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย กัมพูชาเองได้รับวัคซีน mRNA บริจาคเพียง 2 แสนโดส เท่านั้น ที่เหลือเป็นวัคซีนเชื้อตายทั้งหมด กัมพูชาแก้ปัญหาโควิด 19 และเปิดประเทศได้ก่อนประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตน้อยมาก
ขณะเดียวกันประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลัก แต่ขณะเดียวกันประเทศจีนใช้วัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนหลัก ผลลัพธ์เราคงเห็นผล ในเร็ววันนี้ถึงความแตกต่างกันของ 2 กลุ่มประเทศ ถึงอัตราความรุนแรงที่ทำให้ต้องเสียชีวิต
ไม่มีวัคซีนใด ที่ป้องกันการติดเชื้อได้เลย แต่วัคซีนทุกตัวลดความรุนแรงของโรคลงได้ และถ้ามองด้านความปลอดภัยหรืออาการข้างเคียง วัคซีนเชื้อตาย ใช้เทคโนโลยีเก่า เช่นเดียวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ตับอักเสบ A โปลิโอ ที่มีความปลอดภัยสูง และทราบถึงผลระยะยาวของวัคซีนที่ใช้ในอดีตมาแล้ว
อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็คงรู้จริงว่า ทางฝรั่ง คาดการณ์ว่าจีนจะมีเสียชีวิตเป็นล้านคน คงต้องติดตามดูจำนวนเสียชีวิตเป็นล้าน ไม่สามารถปกปิดได้แน่นอน แต่ที่ทราบว่าขณะนี้จุดสูงสุดของการระบาดในจีนได้ผ่านไปแล้ว เช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะมีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่าร้อยละ 70 จึงเกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง และลดความรุนแรงของโรค
การเปรียบเทียบระหว่างจีนกับอเมริกาเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก