สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานป้องกันโควิด-19 มีความยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพ คือการดำเนินงานด้านงบประมาณ ที่ต้องวางแผนและจัดสรร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิมากขึ้น โครงการการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงาน เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน ในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งในโครงการที่เข้ามาหนุนเสริมการทำงานของพื้นที่ โดยเฉพาะที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชีทวน (รพ.สต.ชีทวน) จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการถอดบทเรียนจากช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด – 19 จนนำมาสู่การจัดตั้ง "กองทุนโควิด-19" ขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำงานในระยะยาวต่อไป
นางสาวอรพรรณ ปรัสพันธ์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชีทวน (รพ.สต.ชีทวน) กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งกองทุนว่า จากการดำเนินโครงการของ รพ.สต. ชีทวน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาดำเนินการด้านต่าง ๆ ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในฐานะที่ขับเคลื่อนงานมาโดยตลอด จึงเห็นว่าควรทำให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงานต่อไปในอนาคต มีวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำมาให้บริการประชาชนได้ จึงเริ่มประชุมคณะกรรมการทบทวน หลังจากที่ถอดบทเรียนแล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จนมีแนวคิดในการจัดตั้ง "กองทุน ATK" ขึ้นมา โดยนำงบประมาณจากการสนับสนุนของชุมชนเริ่มตั้งเป็นกองทุนก่อน จากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการ คณะทำงาน จัดตั้งประธานคณะทำงานเพื่อช่วยดำเนินการ หน้าที่หลักในการขับเคลื่อนกองทุน จะเป็นของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. มีกลุ่มผู้นำชุมชนเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ กองทุนนี้จะมีบัญชีรายรับ รายจ่าย ดูว่าเดือนนี้มีการใช้ชุดตตรวจ ATK ไปแล้วกี่ชุด มีผู้เข้ารับบริการมากน้อยเพียงใด โดยรายรับจะมาจากค่าให้บริการตรวจ ATK ประมาณ 50 บาทต่อคน
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจเป็นผู้สูงอายุและอยู่คนเดียว ก็จะไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจ ATK เช่น ในเดือนนั้นมีผู้เข้ารับบริการทั้งหมด 10 คน ก็จะมาดูว่าสามารถเก็บเงินจากค่าตรวจ ATK ได้ทั้งหมดกี่คน โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบหมุนเวียนดูบัญชีรายรับรายจ่ายในเดือนนั้น ๆ ต่อไป การทำบัญชีจะมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งโครงการนี้ทำให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องภายในชุมชน
นางสาวอรพรรณ กล่าวด้วยว่า คณะทำงาน "กองทุน ATK" มีจำนวน 20 คน ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการ รพ.สต.ชีทวน โดยมีหน้าที่ในการทำงานที่ต่างกัน มีการประชุมร่วมกันประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง เพื่อสอบถามความคืบหน้าของกองทุน รวมถึงการจัดซื้อชุดตรวจ ATK พร้อมจัดสรรค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับวัสดุที่เสื่อมสภาพด้วย
“ข้อดีของโครงการนี้คือทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้มากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลเขื่องใน ที่ไกลออกไป โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 มากขึ้น ประชาชนหลายคนก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเดินทางไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะมีผู้คนรวมตัวกัน และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงอีกด้วย ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มบทบาทที่สำคัญให้กับ รพ.สต.ชีทวน เพราะ อสม. จะเป็นผู้กระจายยาจาก รพ.สต.ไปสู่กลุ่มผู้ป่วยโรค NCDs อยู่แล้ว เมื่อมีการระบาดหรือต้องการตรวจคัดกรอง ประชาชนมักจะเลือกมาที่ รพ.สต. ก่อน” นางสาวอรพรรณ กล่าว
นางสาวอรพรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รพ.สต.ชีทวน ได้เปิดศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแลรักษาแบบ Community Isolation แม้ว่าในระยะแรกยังไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน แต่เมื่อให้บริการผู้ป่วย พร้อม ๆ กับ ให้ความรู้ไปด้วย ก็สามารถเปลี่ยนทัศนคติในการอยู่กับโรคได้มากขึ้น และยังพบว่าประชาชนในชุมชนหันมาใช้มาตรการ Home Isolation มากขึ้นอีกด้วย