วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยจากมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ทรงเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในหัวข้อปัญหาของการใช้ภาษาไทยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พระราชทานพระราชดำรัส อันทรงคุณค่าและสร้างความตระหนักให้คนไทยได้เห็นถึงปัญหาของการใช้ภาษาไทยความ ตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาเป็นของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติ ศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้น มีความจำเป็นในทางวิชาการไม่ใช่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมีควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก" จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่บุคคลในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะในวงการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” หรือ “ภาษาไทย” ภาษาที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทย ชาติที่มีเอกราช มีอารยธรรม มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาที่งดงาม มีการใช้ถ้อยคำที่สละสลวย สอดคล้องกับบุคคล โอกาสและสถานที่ เกิดกระแสการอนุรักษ์ภาษาไทยอย่างกว้างขวาง โดยหลายหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทยมาก โดยเฉพาะคนไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศ อาจมีการใช้ภาษาฝรั่งคำไทยคำ ทำให้เมื่อสื่อสารออกไปแล้วคนไม่เข้าใจ และปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องในสังคมอินเตอร์เน็ทที่มักจะใช้คำง่ายๆและสั้นๆ รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารด้วยจนกลายเป็นค่านิยมไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ต่อไปเด็กไทยก็จะไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของภาษาและอาจทำให้ภาษาไทยวิบัติได้ในอนาคต มิเพียงแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเอาพระราชหฤทัยใส่เกี่ยวกับเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเท่านั้น พระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพระราโชวาทในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในโอกาสต่างๆ พระราโชวาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2543 ความตอนหนึ่งว่า “…การนิยมไทย เช่น การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง การประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามขนบนิยมของคนไทย การศึกษาและรักษาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เป็นต้น เป็นวิถีทางสำคัญประการหนึ่งที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและความเป็นชาติของไทยเรา บัณฑิตควรพิจารณาให้เห็นความสำคัญ และปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างอันดีเพื่อชักนำผู้อื่นให้เกิดความชื่นชมนิยมไทย…” พระราโชวาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ความตอนหนึ่งว่า “…ผู้เป็นบัณฑิตย่อมทราบดีว่า วิถีทางสำคัญทางหนึ่งที่จะดำรงความมั่นคงและความเป็นชาติไทยไว้ก็คือการนิยมไทย เช่นการใช้ภาษาไทย ให้ถูกต้องคล่องแคล่วทั้งการพูดและการเขียนการประพฤติปฏิบัติตัวอย่างคนไทย การศึกษาและรักษาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เป็นต้น …” หากแต่การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยมและต่างชาตินิยม การติดต่อสื่อสารแม้แต่การทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยรวดเร็วทันใจ ความสะดวกของการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในเยาวชน หรือวัยรุ่น ที่มีทัศนคติว่าการประดิษฐ์ถ้อยคำ การใช้ภาษาที่แปลกใหม่เป็นเรื่องของแฟชั่น ทันสมัยไม่ตกยุค คนทั่วไปก็ทำกัน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือแปลกแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดการใช้ภาษาไทยในรูปแบบใหม่ที่ผิดเพี้ยนไป ขาดความเอาใจใส่ที่จะใช้ถ้อยคำของภาษาไทยให้ถูกต้อง จนนานวันเข้าทำให้เกิดความเคยชิน นำภาษาที่ใช้แชทกันในสังคมออนไลน์ มาใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ภาษาไทยที่เป็นวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เป็นมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษต้องเกิดการผิดเพี้ยน ขาดความรอบคอบและความประณีตในการใช้ จึงเป็นสภาวะที่น่าเป็นห่วงว่า ภาษาไทยในอนาคต อาจเกิดการวิบัติ จะเป็นภาษาที่ขาดความสละสลวย จะมีวิธีใดจะทำให้เด็กและเยาวชนอนาคตของชาติ เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และหันมาเอาใจใส่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากแบบแผนที่ดีงาม เพื่อร่วมกันเฉลิมพระเกียรติที่ทรงห่วงใยภาษาไทยเอกลักษณ์ของชาติ ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ครูบาอาจารย์ตลอดจนคนไทยทุกคน น่าจะได้ตระหนักในการธำรงรักษาภาษาไทยรวมหัวใจในการอนุรักษ์และการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องงดงาม สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นปัจจุบันและในอนาคตต่อไป ร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้งดงามยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป