กรุงเทพมหานคร พร้อมเดินหน้านโยบายจ้างงานคนพิการ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ลดข้อจำกัดในการทำงาน โดยมุ่งเน้นในเรื่องของศักดิ์ศรีและความสามารถ รื้อแนวคิดและกระบวนการรับผู้พิการเข้ามาทำงานทั้งหมด ผ่านการจำแนกความสามารถของผู้พิการแต่ละประเภท แต่ละคน และมองว่าไม่ใช่ผู้พิการทุกคนต้องทำงานเอกสารและธุรการเพียงอย่างเดียวแต่สามารถทำงานได้ตามความรู้ความสามารถด้วย

นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการจ้างผู้พิการทำงานมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมา พบปัญหาคือ ผู้พิการทำงานได้ไม่นานก็ลาออกไป เนื่องจากหลายสาเหตุ ทั้งทัศนคติระหว่างข้าราชการกับผู้พิการไม่ตรงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งผู้พิการบางประเภทมีข้อเรียกร้องมาก เพราะมีข้อจำกัดด้านร่างกาย เช่น ผู้พิการแขน ขา และผู้ที่ต้องนั่งรถเข็น ต้องยอมรับว่า เขาเหล่านั้นไม่สะดวกในการทำงานจริงๆ ทั้งเรื่องการเดินทางมาทำงาน การขึ้นบันได การเข้าห้องน้ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการที่ต้องมีคนช่วยเหลือดูแล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานทั้งสิ้น แม้พวกเขาต้องการอาชีพเลี้ยงดูตนเองมากแค่ไหนก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้พวกเขาต้องลาออกไป

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีผู้พิการสมัครทำงานประมาณ 300 คน ภายในปี 2566 มีเป้าหมายรับสมัครถึง 800 คน หน้าที่ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาคืองานธุรการ งานเอกสาร ซึ่งอาจไม่ตรงกับความสามารถของผู้พิการแต่ละคน ดังนี้ กทม.จึงพยายามปรับแผนการรับผู้พิการเข้าทำงานรูปแบบใหม่ โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นที่ตั้งถอดรื้อแนวคิดและกระบวนการรับผู้พิการทั้งหมด ผ่านการจำแนกความสามารถของผู้พิการแต่ละประเภท แต่ละคน ไม่ใช่ผู้พิการทุกคนต้องทำงานเอกสารและธุรการเพียงอย่างเดียว

การจำแนกเริ่มตั้งแต่ สำรวจการศึกษาของผู้พิการ พบว่า ผู้พิการทางสายตา(ตาบอด) เรียนจบสูงที่สุด ส่วนผู้พิการแขนขาและนั่งรถเข็นเรียนจบต่ำสุด เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้สม่ำเสมอ ติดขัดเรื่องเดินทาง เข้าห้องเรียน ขึ้นบันได ซึ่งต้องมีคนช่วย รวมถึงอาจต้องจ้างคนช่วยตลอดเวลา ซึ่งใช้เงินมาก ไม่เหมือนผู้พิการสายตา สามารถช่วยตัวเองได้เพียงแค่มีไม้เท้า ดังนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นแรกในการปรับลดวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์ลง เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงงานของ กทม.ได้มากขึ้น เนื่องจาก ผู้พิการแต่ละประเภทมีกำลังความสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ต่างกัน

แนวทางการปรับเปลี่ยนเรื่องต่อมาคือ กทม.จัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับคนพิการ เพื่อประสานความเข้าใจระหว่างผู้พิการกับข้าราชการ เนื่องจากผู้พิการมีข้อเรียกร้องมากเพราะข้อจำกัดด้านกายภาพ ทำให้บางครั้งอาจไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน การจะสร้างภาพการอยู่ร่วมกันได้ในสังคมระหว่างผู้พิการกับคนปกติจำเป็นต้องมีตัวประสานสร้างความรู้ความเข้าใจ ปัจจุบัน กทม.ทดลองให้คณะทำงานลงพื้นที่นำร่องแล้ว 10 เขต พบว่า ช่วยให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น ลดความอึดอัดของบุคลากรในหน่วยงานลง

นายภาณุมาศ กล่าวว่า กทม.กำลังพิจารณาแก้ไขระเบียบตามมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติ เรื่อง วิถีการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อนำมาปรับใช้กับผู้พิการให้สามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการออกแบบงานให้ตรงกับผู้พิการมากขึ้น โดยมีแผนให้ผู้พิการทำงานอยู่ที่บ้าน เช่น การรับเรื่องร้องเรียนจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ หรือ รับเรื่องร้องเรียนจากเขตต่างๆ การตอบแชท การให้ข้อมูล ผ่านแพลตฟอร์มและระบบไลน์ซึ่งทีมผู้บริหาร กทม.นำโดยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ กำลังพิจารณาออกแบบพัฒนาขึ้น เพื่อรองรับและเข้าถึงผู้พิการทุกประเภท เช่น ผู้พิการติดเตียง แต่สามารถใช้นิ้วตอบแชทข้อร้องเรียนได้ ก็สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้โดยไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปิดตัวภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“การจำแนกความสามารถผู้พิการเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง ผู้พิการทางสมอง สามารถทำงานเกี่ยวกับขนส่งพัสดุได้ดี เขาแพ็กของเก่งมาก จดจำวันที่รายละเอียดพัสดุได้แม่นยำ ดังนั้น กทม.ต้องดูจุดเด่นจุดแข็งของผู้พิการแต่ละประเภท แล้วออกแบบงานให้เขา บางคนปลูกต้นไม้ผสมปุ๋ยได้ดี ต้องจำแนกให้ละเอียด เพื่อให้เขาทำงานเลี้ยงตัวได้ยาวนานขึ้น”

สุดท้าย นายภาณุมาศ ยอมรับว่า แม้ กทม.จะให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ของผู้พิการ  พัฒนาโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อรองรับ แต่ความเป็นจริงคือ ผู้พิการไม่สามารถเดินทางมาได้ เพราะอยู่ไกลและมีข้อจำกัดแทบทุกด้าน ผู้พิการจึงเลือกไปขายล็อตเตอรี่กันมากกว่าจะหาทักษะประกอบอาชีพอื่น ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่พัฒนาได้ยาก จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้าช่วย รวมถึง กทม.ต้องช่วยออกแบบงานให้ตรงกับผู้พิการแต่ละคน เปลี่ยนความคิดใหม่ เพื่อให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนและปลอดภัย