เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudh ระบุว่า “เบียร์ทั้งมี และไม่มีแอลกอฮอล์ กลับบำรุงสุขภาพ ในเบียร์มีโพลีฟีนอล จาก ฮอปมาก เพื่อกลิ่นรสและความขม และก็ยังมี พรีนิลฟลาโวนอยด์ ที่ชื่อ แซงโธฮิวมอล (xanthohumol) การศึกษาในสัตว์ทดลองน่าที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่เกี่ยวพันกับสารอนุมูลอิสระ และที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน และในระหว่างกระบวนการเพราะบ่มเบียร์ แซงโธฮิวมอล จะมีการปรับโครงสร้างกลายเป็น ไอโซแซงโธฮิวมอล ซึ่งมีฤทธิ์ในทางเป็นประโยชน์เช่นกัน

ส่วนประกอบโพลีฟีนอลในเบียร์ เมื่อตกถึงลำไส้จะมีผลในการปรับสภาพของจุลินทรีย์ทั้งปริมาณชนิดและความหลากหลาย โครงการศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง Flemish Gut Flora Project แสดงให้เห็นว่า การดื่มเบียร์ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะส่งผลในการปรับสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เป็นตัวดี ผลของการศึกษามีการเพิ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่เป็นตัวดีหรือมีประโยชน์มากกว่า 20 ชนิด และไม่พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในน้ำหนัก ปริมาณและการกระจายตัวของไขมันในร่างกายรวมกระทั่งถึงดัชนีชี้วัด สภาพคาร์ดิโอเมตาบอลิคในเลือด และไม่พบการอักเสบในลำไส้หรือการรั่วของเยื่อบุผนังลำไส้โดยการหา fecal alkaline phosphatase activity”