วันที่ 28 ม.ค.66 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า...
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ภาวะในปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในภาวะจิตตก มากมาย และเป็นปัญหาที่กระทบสุขภาพ ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่และคุณภาพประสิทธิภาพในการทำงานด้อยลง จนต้องมีการใช้ยามากมายมหาศาล ซึ่งยาหลายชนิด อาจทำให้มีปฏิกิริยาเสริมเพิ่ม กันและกัน และกลับทำให้มีผลแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ความวิตกกังวล โดยเนื้อแท้ เป็นกลไก ตามธรรมชาติ ที่ทำให้คนเราต้องมีความรอบคอบในการทำงาน ทำกิจกรรมให้ไม่ผิดพลาด และผลงานออก มาสมบูรณ์
แต่ถ้ามีมากเกินไป จนเพี้ยนจะกลับกลายเป็นได้ผลลบในทางตรงข้าม
และจนถึงขนาดที่ทำงานไม่ได้ จนต้องออกจากงาน และความวิตกกังวล มีได้ หลายรูปแบบ โดยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง เมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างเข้ามากระทบ
โดยปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะวิตกกังวล จะเป็นคนที่มีบุคลิกบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงเช่น อายผู้ อายคน รู้สึกไม่สะดวกใจจนกระทั่งถึงต้องหลีกหนีเมื่อพบคน หรือต้องเจอะเจอสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย
และยิ่งประกอบกับเคยมีภาวะเครียดหรือ มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็กหรือแม้แต่วัยโตก็ตาม และถ้ามีคนในครอบครัวที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่รวมกระทั่งโรคทางกายที่ผิดปกติซึ่งรวมถึงโรคของต่อมไธรอยด์และโรคหัวใจเต้นผิดปกติ
ภาวะความผิดปกติ วิตกกังวล ออกมาได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่โรควิตกกังวลโดยทั่วไป กังวลกับเรื่องทั้งหลายทั้งปวง เรื่องสุขภาพตนเอง เรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน ลื่นไหลไปแทบทุกเรื่อง จนกระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ และนอนไม่ได้หรือนอนไม่ดี
ภาวะแพนิค (Panic) ความรู้สึกกลัวกระทันหัน คาดการณ์ไม่ได้เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบ เข้ามากระทบเกิดเหงื่อแตก ใจสั่น เจ็บหน้าอกรู้สึก เหมือนมีก้อนจุกคอ จนกระทั่งต้องไปห้องฉุกเฉิน กลัวหัวใจวาย
ภาวะตื่นกลัว โฟเบีย (phobia) มักเป็นกับบางสิ่งบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น กลัวงู จิ้งจกแมลงสาบ กลัวเลือด กลัวความสูง กลัวถูกฉีดยา และพวกเราเห็นอยู่บ่อยพอสมควร เวลาคนไข้มาเจาะเลือด หรือกลัวเวลามีปฏิสัมพันธ์ในสังคม จะกังวลว่าจะมีคนมานินทา หรือกลัวว่าตัวเอง จะทำขายหน้า เป็นที่ตลกขบขันเลยไม่ยอมเข้าสังคม ภาวะกลัวยังมีไปจนกระทั่งถึงกลัวที่แคบ ที่โล่ง อยู่ในกลุ่มคนหนาแน่น หรือแออัด รวมทั้ง ในรถโดยสารสาธารณะ และที่รุนแรงจนกระทั่งไม่ยอมออกจากบ้าน
นอกจากนั้นยังมีภาวะกังวลต่อการต้องพลัดพรากจากพ่อแม่จากคนที่รัก
ประมาณการ กันว่าในผู้ใหญ่มีภาวะผิดปกติของความวิตกกังวลจิตตกอยู่ไม่ต่ำกว่า 30% ในต่างประเทศ และเป็นได้ทุกอายุโดยเริ่มตั้งแต่เด็กวัยรุ่นขึ้นมา จนแก่ และทั้งโลกมีประมาณ 301 ล้านคนที่มีความแปรปรวนนี้
และภาวะลำไส้หงุดหงิด (irritable bowel syndrome) ท้องผูก ท้องเสีย สลับกันไปมา อาจมีส่วนเกี่ยวพันกับภาวะวิตกกังวลด้วย
เมื่อถูกกระทบกับภาวะจิตตก เช่นนี้และช่วยเหลือตนเองไม่ได้จำเป็นต้อง อาศัยการควบรวมปรึกษานักจิตวิทยาคลินิกโดยไม่ใช้ยา และหลีกเลี่ยงกาแฟ ในกรณีที่มีใจสั่นใจเต้นเร็ว จนกระทั่งถึงต้องใช้ นักจิตวิทยาบำบัด และใช้ ยาร่วมด้วยโดย แพทย์เฉพาะทาง
ยาที่ใช้เป็นตระกูล แอนตี้ คือแอนตี้ความวิตกกังวล (anti-anxiety) แอนตี้ความหดหู่ซึมเศร้า (anti-depressant) จนกระทั่ง ยาแอนตี้ความดัน บางกลุ่มที่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการใจสั่น ใจเต้นเร็ว และตัวสั่น มือสั่น
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งมาจากการศึกษาของคณะทำงาน anxiety research program ที่ Georgetown university medical center วอชิงตันดีซี
และรายงานในวารสารของสมาคมแพทย์อเมริกัน JAMA Psychiatry วันที่ 9 พฤศจิกายน 2022
เป้าหมายของคณะทำงานนี้มีจุดประสงค์ที่จะช่วยคนที่เจ็บป่วยที่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาทางจิตวิทยาบำบัด รวมกระทั่งถึงการที่ต้องใช้ยาโดยต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง
จึงได้ทำการวิจัยถึงการทำสมาธิ ที่เรียกว่า mindfulness meditation การทำสมาธิเจริญสติให้จดจ่อ อยู่กับช่วงเวลาของปัจจุบันซึ่งต่างจาก พฤติกรรมบำบัด (cognitive behavioral psychotherapy)
ในการศึกษานี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้ใหญ่ 276 รายอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปีเป็นสตรี 75% ผิวขาว 59% ผิวดำ 15% และเป็นคนเอเชีย 20% โดยทั้งหมดมีผลกระทบจากภาวะวิตกกังวลจิตตก
136 คนจะได้รับการบำบัด ด้วยกันเจริญสติและอีก 140 คนได้รับยาที่เพิ่มซีโรโทนืน ชื่อ escitalopram หรือชื่อการค้าคือ laxapro
กลุ่มเจริญสติจะมีการเข้าคลาสเป็นกลุ่มอาทิตย์ละ 2.5 ชั่วโมงและหนึ่งวันเต็มผมวันสุดสัปดาห์นอกจากนั้นจะให้ฝึกทำเองที่บ้านวันละ 45 นาทีโดยเป็นการเรียนและฝึกฝน สมาธิเจริญสติให้จดจอกำหนดลมหายใจสำรวจร่างกายตนเองและสำรวจจิตที่มีการเคลื่อนไหว
กลุ่มใช้ยาจะได้ยาขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวันในอาทิตย์แรกและถ้าไม่มีผลข้างเคียงเพิ่มเป็น 20 มิลลิกรัมในอาทิตย์ที่สองเป็นต้นไป
การประเมินใช้แบบทดสอบมาตรฐานสำหรับภาวะจิตตก
(Clinical global impression of severity. CGI-S) โดยมีคะแนนหนึ่งถึงเจ็ด หนึ่งคือปกติแล้วเจ็ดคือเป็นมากที่สุด และแบบทดสอบนี้สามารถใช้ประยุกต์ได้กับภาวะวิตกกังวลได้เกือบทุกแบบ
เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นลงที่แปดอาทิตย์ มีคนที่เข้าร่วมจนกระทั่งเสร็จสิ้นการศึกษา 208 คน
ผลปรากฏว่าในกลุ่มที่เจริญสติ จำนวน 102 คนนั้น คะแนนตั้งต้นอยู่ที่ 4.44 และเมื่อครบแปดอาทิตย์คะแนนดีขึ้นโดยเฉลี่ย 1.35 แต้มและในกลุ่มที่ใช้ยา 106 คน คะแนนตั้งต้นอยู่ที่ 4.51 และเมื่อจบการ ศึกษาพบว่าคะแนนดีขึ้น 1.43 แต้ม ซึ่งหมายความว่าได้ผลเท่ากัน
ทั้งนี้เมื่อดูวิเคราะห์อาการของทั้งสองกลุ่มแล้ว ดีขึ้นประมาณ 30% โดยที่ ในกลุ่มใช้ยามี 10 รายออกจากการศึกษาเนื่องจากผลข้างเคียงและไม่มีใครในกลุ่มเจริญสติที่ออกจากการศึกษาเลย
ดังนั้นการเจริญสติสมาธิจดจ่อน่าจะเป็นวิธีการรักษาแบบแรกก่อนที่จะเริ่มใช้ยาด้วยซ้ำ
คณะผู้วิจัยได้เสริมว่าในการเจริญสตินั้นเป็นการเรียนเพื่อที่จะรับรู้สภาพปรับตัวกับสถานการณ์โดยไม่รู้ตัวและจะไม่มีการตัดสินถูกผิดใดๆทั้งสิ้น ในความคิดของตนเองและเป็นการสอนตนเองให้ สามารถให้อภัยตนเองได้โดยไม่ต้องฝืนใจและไม่ต้องให้คนอื่นปลอบใจ แต่ทั้งนี้ การฝึกมีการฝึกเป็นกลุ่มซึ่งสามารถทำให้เรียนรู้ตนเองได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้นในกลุ่มที่ใช้ยาจะมีถึง 78% ที่มีผลที่ไม่พึงประสงค์ของการใช้ยา ได้แก่ การนอนผิดปกติคลื่นไส้อาเจียน และปวดหัว ต่างกับกลุ่มเจริญสติ ซึ่งมีความแปรปรวนอยู่ 15.4%
ในกลุ่มเจริญสตินั้น มีผลข้างเคียงที่พบ คือรู้สึกเหนื่อยล้า (fatigue) ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถใช้โทรศัพท์หรือเล่นมือถือได้ และเหมือนกับไม่ได้มีการกระตุ้นตามปกติ
ข้อแตกต่างของการฝึกเจริญสติด้วยตนเอง และพร้อมกับกลุ่ม กับการใช้แอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมที่หาได้ในอินเตอร์เน็ต คือการฝึกจากโปรแกรมจะไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับคนในกลุ่มรวมทั้งไม่ได้รับการแนะนำจาก ผู้ฝึกและเพื่อนร่วมกลุ่ม
การฝึกเจริญสติในลักษณะนี้ ไม่ถึงกับต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ therapist และสามารถทำได้ แม้กระทั่งในที่ทำงาน หรือเวลาไปฝึกโยคะ ใครๆ ก็สามารถเรียนและฝึกทำได้ และในที่สุด สามารถฝึกเจริญสติที่บ้านได้ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาทีต่อวันเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เกินคุ้ม เมื่อเทียบกับการใช้ยาซึ่งไม่ใช่เป็นการรักษาตรง แต่เป็นความพยายามที่จะปรับสารเคมีในสมองเพื่อบรรเทาอาการ และคงต้องใช้ยาหรือพึ่งยาไปตลอด
การเรียนรู้ลงทุนเพื่อช่วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยต้องการในขณะนี้และความเอื้อเฟื้อใส่ใจซึ่งกันและกัน