ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและครอบคลุมแล้ว สิ่งที่ถือว่ามีความสำคัญในกระบวนการดูแลผู้ป่วย นั่นคือ การนำนวัตกรรมช่วยฟื้นฟูดูแลชีวิตความเป็นอยู่อย่างรอบด้าน ทั้งการช่วยลดความเครียดหรือการช่วยฟื้นฟูรักษา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการทำงานผ่านโครงการการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงาน เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน ในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดอุบลราชธานี โดยสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย จ.อุบลราชธานี สามารถนำมาปรับใช้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี  

นางสมพร ธานี ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักใจสำหรับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนามตั้งอยู่ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลด่านหน้า ต้องแบ่งพื้นที่เพื่อดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะมีข้าราชการ 5 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อีกประมาณ 81 คน แบ่งหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ณ ศูนย์พักคอยต่าง ๆ ทั้งผู้ที่ติดเชื้อแล้ว และผู้ที่ต้องกักตัวเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง โดยจำนวนผู้ป่วยมีประมาณ 400 คนจาก 5 หมู่บ้าน 

เมื่อสถานการณ์มีความผ่อนคลายมากขึ้น ประชากรในชุมชนมีความเข้าใจโควิด-19 เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะเพิ่มความรู้เข้าไป เริ่มจากให้พัฒนา อสม. เช่น อบรมการตรวจ ATK ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มไลน์ในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องกักตัวในบ้าน โดย อสม. จะเป็นผู้นำส่งข้อมูลและดูแลทั้งระบบ หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วย อสม. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจโรค จากนั้นก็ส่งผลมายังสถานีอนามัย โดยที่สถานีอนามัยจะเป็นผู้จัดหายาขั้นพื้นฐานให้กับผู้ป่วย เช่น ยาลดไข้ หรือ ยาฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาตัวที่บ้านในระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยเริ่มลดลงอย่างมาก เหลือประมาณ 1-2 คน ต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก สสส. รวมถึงการบริจาคของประชาชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทำให้พื้นที่แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วย  

ทั้งนี้ จุดเด่นของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติบ้านยางน้อย คือมีการจัดทำสมุนไพรเพื่อใช้ในโครงการ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสมุนไพรที่นำมาใช้นั้น จะมี 2 รูปแบบ คือ เพื่อบำบัดความเครียด เช่น สเปรย์ชื่นใจ ที่เป็นสเปรย์สมุนไพรที่ใช้กับโรคทางเดินหายใจ สามารถใช้เพื่อปรับสภาพอากาศและปรับกลิ่นภายใต้หน้ากากอนามัยช่วยให้สดชื่นมากขึ้น  

ถุงหอมสมุนไพร ซึ่งใช้สมุนไพรชนิดที่มีกลิ่นหอมและมีฤทธิ์ในการผ่อนคลายความเครียด ทั้ง การบูร พิมเสน และเมนทอล กับสมุนไพรที่ใช้เพื่อบำบัดรักษาโรค เช่น ยาผงสมุนไพร ที่สามารถชงดื่มได้ระหว่างที่มีอาการเจ็บคอ ยาฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล ที่นำมาใช้กับผู้ป่วยทุกคนในชุมชนช่วงที่กำลังรักษาตัว รวมถึงยาน้ำที่มีสารสกัดจากสมุนไพรตรีผลา ช่วยเพิ่มความชุ่มคอ และ เพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น โดยใช้น้ำกระษัยยาจากเมล็ดกาแฟที่มีอยู่ในชุมชน 

นางสาวจารุวรรณ มังตะการ แพทย์แผนไทยชำนาญการ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติบ้านยางน้อย กล่าวถึงการคัดเลือกสมุนไพรที่นำมาใช้ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ว่า ได้คัดสรรมาจากองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย ประกอบกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นหลัก เช่น ยาน้ำที่มีสารสกัดจากสมุนไพรตรีผลา ที่ใช้ผลไม้ 3 ชนิด คือ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ แก้เจ็บคอ โดยใช้น้ำกระษัยที่เป็นกาแฟจากศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย ที่ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ลดความเครียด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของโครงการนี้ หรือผลิตภัณฑ์ถุงหอมสมุนไพรลดความเครียด ที่นำใบเตยหอม ผิวมะกรูด ใบมะขาม พร้อมด้วยการบูรกับพิมเสน มาตากแห้งแล้วใส่เป็นถุง ก็เป็นวัตถุดิบภายในท้องถิ่นเกือบทั้งหมด โดยองค์ความรู้นั้นเป็นการต่อยอดจากทุนเดิมที่มีมาอยู่แล้ว โดยมี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เข้ามาสนับสนุนทั้งด้านขององค์ความรู้และเครื่องมือ 

นอกจากนี้ อบรมให้ความรู้ อสม. ในการจัดทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากนั้นจะเริ่มแจกจ่ายเมื่อลงพื้นที่ตามศูนย์ประจำหมู่บ้านทุกวัน ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน สะท้อนจากการถามหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สถานีอนามัย ดังนั้น ในอนาคตอาจมีการจัดตั้งกองทุน เพื่อนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาใช้ในชุมชนต่อไป 

ส่วนนายพร ศรีสุข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลก่อเอ้ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้นำชุมชน แพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และทุกส่วนราชการ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นก็เริ่มทำประชาคมหมู่บ้าน ในการรับผู้ป่วยติดเชื้อจากกรุงเทพมหานครเข้ามา แม้ในช่วงแรกจะมีความไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง แต่ก็สามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ในที่สุด นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมร่วมกันภายในชุมชน เป็นถนนสายวัฒนธรรม ร่วมกับพระสงฆ์ จนได้สิ่งของบริจาคมาทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง พร้อมกับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาหมู่บ้านและเงินบริจาคของคนในชุมชน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร มีเจ้าหน้าที่ อสม. ร่วมมือให้การดูแลคอยส่งข้าว ส่งน้ำอยู่ตลอดเวลา  

ด้านนายบวร ศรีสรร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลก่อเอ้ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า  ในช่วงแรกของการระบาดพบผู้ติดเชื้อมาจากกรุงเทพมหานครเช่นกัน ซึ่งประสบปัญหาที่คนในหมู่บ้านไม่ต้องการให้ผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาเพราะกลัวว่าจะเป็นการแพร่เชื้อออกไป แม้กระทั่งรถขายอาหาร หรือ รถพุ่มพวง ชาวบ้านก็ไม่อยากให้เข้ามา แต่ก็ได้ทำความเข้าใจร่วมกันภายในชุมชน ให้พ่อค้าป้องกันตนเองขณะขาย  

หลังจากนั้นก็ได้ก่อตั้งศูนย์พักคอยที่โรงเรียน มีผู้ป่วยประมาณ 50 คน เมื่อเกิดการระบาดมากขึ้น จึงเริ่มดูแลกันเองภายในครอบครัว หรือให้ผู้ป่วยไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยสำหรับครอบครัวที่ยังไม่พร้อม หากบ้านไหนอยู่กันหลายคน ก็จะขออยู่ที่ศูนย์พักคอยก่อน แยกผู้ป่วยติดเชื้อออกไป รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ก็จะนำกลับมายังศูนย์พักคอยก่อนจะกลับไปอยู่กับครอบครัวด้วย ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน รวมถึงการบริจาคสิ่งของจากคนในชุมชน ซื้ออาหาร น้ำ หรือทำกับข้าวไปส่งผู้ป่วยยังจุดพักคอย โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากมีศูนย์แห่งนี้คือ สามารถรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ทุกคนเป็นอย่างดี ไม่มีใครกลัวโรคนี้เหมือนกับช่วงแรกอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี