คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย     

ฉบับนี้ผมขออนุญาตเว้นวรรคเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เพื่อขอแบ่งปันในเรื่องความท้าทายที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่ามหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ. 2004 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.2022 หรือภายในระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่าปิดทำการไปแล้วถึง 896 สถาบัน จากจำนวนทั้งหมด 5,860 แห่ง ทั้งๆที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วยซ้ำไป!!!

แต่ในทางกลับกัน “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักศึกษาสามพันกว่าคน และดำเนินงานแบบครอบครัว ดูแลลูกศิษย์แบบลูกหลาน โดยหลังจากที่ผมเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกามาเมืองไทยเมื่อสิบปีก่อน ผมก็ตัดสินใจเข้าไปร่วมงานกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้

โดยแรกเริ่มเดิมที “อธิการบดีดร.ณรงค์ ชวสินธุ์” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มาเป็นเวลานานกว่า 22 ปี ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่า“ต้องการให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นแหล่งสร้างคน (ให้เป็นบัณฑิต) ที่อาจารย์ทุกๆคนมอบความอบอุ่นดูแลนักศึกษาแบบลูกหลาน เพื่อช่วยพัฒนาให้นักศึกษาทุกๆคนมีศักยภาพ มีความซื่อตรง ขยัน เที่ยงธรรม มีความกตัญญูรู้บุญคุณผู้มีพระคุณ มีความสามารถเพรียบพร้อมทั้งทางด้านปัญญา คุณธรรม และมีจริยธรรมอันดีงาม”

ปรัชญาดังกล่าวที่ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ รังสรรค์ขึ้นมานั้น มีความเกี่ยวโยงกับคุณลักษณะความแข็งแกร่งที่ดีของนกอินทรี ซึ่งท่านได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

โดยประติมากรรมชิ้นอลังการตราสัญญลักษณ์นกอินทรีประจำสถาบันแห่งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก “ดร.กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. 2540 สาขาทัศนศิลป์จิตรกรรมสื่อมวลชน กัลยาณมิตรของผมในสหรัฐฯมาอย่างยาวนานกว่าสี่สิบปี

งานประติมากรรมนกอินทรีมีความสูงสิบสองฟุต โดยงานนี้ดร.กมลมิได้เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพราะปกติแล้วงานประเภทนี้หาค่ามิได้ ซึ่งประเมินกันว่าเฉพาะงานออกแบบเพียงอย่างเดียวของดร.กมล ราคาต่ำที่สุดอยู่ที่หนึ่งล้านบาท!!!

อนึ่งงานประติมากรรมนกอินทรีใช้เวลาสร้างถึงสองปีเต็มๆ และขณะนี้ตั้งเด่นเป็นตระหง่านอยู่หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ณ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์คอันโดดเด่นของสถาบันแห่งนี้เลยทีเดียว

ท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ มักจะเล่าเรื่องราวของนกอินทรีให้แก่นักศึกษาและผู้ที่ไปเยือนมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ได้รับฟัง

เนื่องจากท่านต้องการที่จะนำเรื่องราวคุณสมบัติพิเศษของพ่อนกและแม่นกอินทรีที่ดูแลเฝ้าพากเพียรฝึกฝนให้ลูกๆมีความแข็งแกร่ง เฉลียวฉลาด กล้าหาญมั่นคงพร้อมที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆจนสามารถช่วยเหลือตัวเองนำไปเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นต้นแบบในการต่อสู้ชีวิต ยกตัวอย่างอาทิเช่น “อาจารย์ดร.ภูมิ  ศรีสุข” คณบดีคณะบริหารธุรกิจเล่าให้ฟังถึงความภาคภูมิใจในตัวนักศึกษาคนหนึ่งที่ติดเหล้าเมายาหมดอนาคตไปแล้ว แต่อาจารย์ดร.ภูมิ ก็พยายามช่วยเหลือดูแล และคอยให้กำลังใจ จนขณะนี้บัณทิตผู้นี้สำเร็จการศึกษาแล้ว และดำรงชีพด้วยการเป็นผู้ประกอบการส่งสินค้าขายต่างประเทศ ซึ่งเมื่อได้รับฟังแล้วรู้สึกดีใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากนั้นแล้วอธิการบดีดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ ก็มักจะเล่าถึงความพิเศษของงานประติมากรรมพญานกอินทรีว่า แสนจะสง่างามและเป็นงานออกแบบที่แฝงด้วยทฤษฎีสัดส่วน “Proportion” เพราะหากถ่ายภาพในเวลาเดียวกันแต่ต่างมุมก็จะได้ภาพสวยงามที่แตกแต่งกัน เนื่องจากแสงและสีของงานประติมากรรมชิ้นอลังการนี้นี่เอง

ทั้งนี้การวางรากฐานสร้างความพร้อมทางด้านปัญญาและมีคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามให้กับนักศึกษา นับว่าเป็นหัวใจหลักเพื่ออนาคตของนักศึกษาในทางการศึกษา ทำนองเดียวกันกับที่ผมได้รับการบ่มเพาะจากสองมหาวิทยาลัยชั้นนำสิบปีเต็มๆตั้งแต่ปริญญาตรี ถึงจนปริญญาเอกจาก Pepperdine University และ Brigham Young University

โดยท่านอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์พร้อมด้วย “รองอธิการบดีชฎิลรัตน์ อัศววิวัฒน์พงศ์”และ “รองอธิการบดีอาจารย์ชุติมา ชวสินธุ์” ต่างได้เดินทางไปเป็นแขกของสองสถาบันแห่งนี้มาแล้วเมื่อปีค.ศ. 2015 และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

ทว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้ต่างก็ได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากทั้งศิษย์เก่าและจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่ในทางกลับกันปรากฏว่ามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มิเคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งๆที่ต้องเผชิญต่ออุปสรรคนานัปการไม่แพ้มหาวิทยาลัยเอกชนอื่นๆของไทย

และเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและน่าชื่นชมอีกเช่นเดียวกันว่า อธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ เป็นผู้ที่ได้ออกแบบและก่อสร้างอาคารต่างๆที่เรียงรายสวยงามในมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ บนเนื้อที่ 102 ไร่ด้วยฝีมือของท่านเอง จากการที่ท่านได้รับการเรียนรู้จากรั้วจามจุรี “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์คนโปรดของ“ศ.ดร.อรุณ ชัยเสรี” ผู้ที่สร้างอาคารสูง 32 ชั้นที่มีชื่อเสียงในเอกลักษณ์รูปช้าง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน และถนนรัชดาภิเษก เขตธุรกิจทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร

ส่วนด้านการสร้างเครือข่ายประสานสายสัมพันธ์อันดีต่อสถาบันการศึกษาต่างประเทศนั้นอธิการบดีดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ ยังได้สร้างความไว้วางใจร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา โดยเข้ามาเป็นพันธมิตรทางด้านวิชาการอย่างเหนียวแน่นถึง 3 สถาบันด้วยกันกล่าวคือ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลก โดยทุกๆปี ที่มี“ศาสตราจารย์ ดร.ชัด อัลเรด” จะนำนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพอร์ดูเดินทางเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ทุกๆปี

สำหรับมหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง (Brigham Young University) ก็ได้เริ่มเสริมสร้างพันธมิตรอันดีทางด้านวิชาการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 เป็นต้นมารวมถึง “มหาวิทยาลัยวีเบอร์เสตท์” ในรัฐยูทาห์ด้วยเช่นกัน

โดยอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ ได้ขยายเครือข่ายสร้างพันธมิตรทางด้านวิชาการเพิ่มเติมกับประเทศต่างๆอาทิเช่น จีน พม่า อินเดีย ลาว ภูฏาน และไนจีเรีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ ยังมีความมุ่งมั่นต้องการที่จะสร้างโอกาสต่อเยาวชนลูกหลานของเรา โดยแต่ละปีจะมีเยาวชนหลายร้อยคนที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ไปจนถึงระดับปริญญาเอก ที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน เรื่อยไปแม้กระทั่งพระสงฆ์ ที่นับว่าบุคคลเหล่านั้นคือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในภายภาคหน้า ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ยังถือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในภาคเหนือที่ตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์อีกด้วย !!!

บุคคลสำคัญที่เป็นเสาหลักอีกท่านหนึ่งที่ได้ปวารณาตนเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งมันสมองและเป็นอีกสองมือที่ช่วยเหลือให้มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ สามารถก้าวขับเคลื่อนรุดไปข้างหน้า ที่ท่านมิได้หวังค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้นในตำแหน่งประธานคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มากว่ายี่สิบปีท่านนั่นก็คือ“ศาสตราจารย์นายแพทย์โชติ ธีตรานนท์”อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สองสมัย และท่านก็ยังเคยเป็นมือขวาด้านการวางกลยุทธ์ให้แก่ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย”สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขณะนี้ท่านดำรงตำแหน่งองคมนตรี ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นถึงแม้ว่าอธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ จะมีอายุย่างเข้าแปดสิบปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยความรักในการเสริมสร้างและสนับสนุนเยาวชนคนไทย ท่านจึงมิยอมหยุดพัก และยังคงตรากตรำทำงานอย่างเต็มที่เจ็ดวันรวดไม่มีวันหยุด และยังคงทำตามเจตนารมณ์เดิมๆที่ยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง นับว่าแสนจะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยทุกๆแห่งในสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา” “ผอ.สมเกียรติ คำสุข” ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี และ “คุณอุมาพร เสียงสูง” รองหัวหน้าศูนย์สื่อสารองค์กร แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ได้กรุณาช่วยเหลือจัดหาข้อมูลและภาพประกอบให้ เนื่องจากขณะนี้ผมยังติดภารกิจอยู่ที่สหรัฐอเมริกาละครับ