ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
บ้างก็ว่าฝันที่เป็นจริงนั้นยากนัก ส่วนมากเป็นความบังเอิญ หรือโชควาสนาของแต่ละคน
เฮ้งคิดว่าความฝันเป็นความสุขที่ไม่ต้องซื้อหา ตอนเด็ก ๆ เขาฝันว่าอยากกินขนมโก๋ อยากอมทอฟฟี่ เขาก็ได้กิน แต่ไม่รู้ว่ารสชาติมันเป็นอย่างที่เขาฝันหรือไม่ เพราะเขาไม่เคยกินจริง ๆ พ่อกับแม่ไม่ได้ให้เงินเขาไปซื้ออะไรเลย ถ้าอยากกินอะไรหวาน ๆ ก็หากินผลไม้ในสวน หรือถ้ามีงานวัดก็ได้กินขนมก้นบาตร แต่ก็เป็นแต่พวกขนมสอดไส้ หรือลอดช่อง ที่ชาวบ้านเอามาทำบุญ แต่ไม่มีขนมสีสวย ๆ ที่เขาขายตามร้าน จนกระทั่งย้ายมาอยู่โบ๊เบ๊ แม่ก็ให้เงินไปโรงเรียนวันละ 1 บาท สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ เขาจึงมีเงินเหลือไปซื้อขนมบ้าง แต่พอได้กินก็ไม่อร่อยเหมือนกับที่เขาได้กินในฝัน
เขาฝันอยากเป็นโน่นเป็นนี่หลาย ๆ อย่างมาตลอดชีวิต ตอนอยู่ชั้นประถมต้นเคยฝันอยากเป็นตำรวจ แต่พ่อบอกว่าเขาเป็นลูกคนจีนต่างด้าว กฎหมายห้ามไม่ให้เป็น เขาเลยเปลี่ยนเป็นอยากเป็นคนแจกไพ่ ที่เขาเคยไปแอบดูกับเพื่อน ๆ ในบ้านหลังใหญ่กลางสวน ที่มีคนมาเปิดเป็นบ่อนหลบตำรวจ มองเห็นคนแจกไพ่อยู่กลางวง แจกไพ่อย่างคล่องแคล่ว หน้าตามีความสุขมาก และสุดท้ายก็กวาดเงินของคนอื่น ๆ มาไว้ที่ข้างหน้าตัวเอง แต่เขาก็ไม่กล้าเล่าให้พ่อหรือใคร ๆ ฟัง เพราะพ่อเคยห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับนักเลงพวกนี้
พอขึ้นชั้นมัธยมเขาก็อยากเป็นช่างภาพ เพราะได้รู้จักไกด์ในวัดหน้าโรงเรียนของเขา ที่เล่าให้ฟังถึงการได้ไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ ได้ถ่ายรูปสถานที่และทิวทัศน์สวย ๆ ทั้งยังได้เงินกับการนำเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ แต่ต่อมาเขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของโลก เขาก็อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เหมือนโทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ผลิตหลอดไฟฟ้า จนถึงอยากเป็นนักบินอวกาศ เหมือนอย่างนีล อาร์มสตรอง เมื่อดูข่าวยานอพอลโลเหยียบดวงจันทร์ แม้กระทั่งอยากเป็นเหมือนอย่างมหาตมะ คานธี วีรบุรุษของชาวอินเดีย
พอเข้ามหาวิทยาลัยดูเหมือนว่าเขาจะ “เพ้อฝัน” น้อยลง เวลานั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพิ่งจะผ่านพ้น แนวคิดซ้าย ๆ แบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กำลังเป็นที่นิยมกันในหมู่นิสิตนักศึกษาจำนวนมาก ใครพูดใครคุยในแนวนั้นจะถือว่าเป็นทันสมัย “เด็กแนว” ในยุคนั้นต้องผมยาว เสื้อยับ นุ่งยีนส์ สะพายย่าม และสวมรองเท้ายาง หรือ “พวก ๕ ย.” หรือถ้าจะให้ขลังสุด ๆ ก็ต้องพก “หนังสือปกแดง” เล่มขนาดฝ่ามือนิด ๆ หนาสักนิ้วครึ่ง หน้าปกเป็นรูปเงาใบหน้าของ “เหมาเจ๋อตุง” บนพื้นสีแดง บางทีก็พิมพ์ภาษาไทยไว้ว่า “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง”
ลัทธินี้เน้นการต่อสู้ไปสู่สร้างสังคมแบบใหม่ ที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ด้วยการร่วมกันกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง “ไม่เพ้อฝัน” ทุกอย่างต้องอยู่บน “สัจจะ” หรือความเป็นจริง โดยโจมตีพวกที่นิยมสังคมเก่าในลัทธิ “นายทุนขุนศึก” นั้นว่า “พวกสายลมแสงแดด” มีแต่ความเพ้อฝัน และชีวิตหาสาระอะไรไม่ได้ นักศึกษาใหม่อย่างเฮ้งจึงไหลเข้าไปในกระแสของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาเริ่มจะเกลียดชังความฝัน และมองความฝันว่าเป็นสิ่งไร้สาระและ “มอมเมา”
ตอนชั้นปี 3 ปลายเทอมแรก ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย มีผู้คนเข้ามาจัดชุมนุม เริ่มจากประเด็นการต่อต้านการกลับมาของทรราชถนอม ที่หนีไปอยู่สิงคโปร์และบวชเป็นเณรกลับเข้ามา จากนั้นก็สนับสนุนการสไตรก์ของกรรมกรในหลาย ๆ แห่ง ทหารโดยวิทยุยานเกราะออกข่าวว่ามีคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งนี้ วันหนึ่งก็มีข่าวหนังสือพิมพ์มาถ่ายรูปการแสดงละครบนเวทีหน้าการชุมนุม ภาพนั้นมองคล้ายองค์รัชทายาทถูกจับแขวนคอ ทำให้ฝ่ายขวาที่จ้องทำร้ายนักศึกษา ก่อกระแสและเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม นั่นก็คือการล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการแขวนคอและ “จับเผานั่งยาง” นักศึกษาที่ข้างสนามหลวง ที่น่าสังเวชสุด ๆ นั่นเอง
ปีนั้นเป็นปีเดียวกันกับที่เฮ้งไปแอบเปลี่ยนชื่อจาก “สวัสดิ์” เป็น “เฮงสวัสดิ์” ไม่ใช่เพราะเป็นคนถือโชคลางอะไร แต่เขาอยากเน้นย้ำความคิดของเขาที่ชอบชื่อ “เฮง” ที่พ่อแม่ตั้งให้ ร่วมกับชื่อ “สวัสดิ์” ที่หลวงตาในวัดที่ครอบครัวของเขาไปอาศัยที่ดินข้างรั้ววัดปลูกเป็นเพิงอาศัย รวมถึงที่อยากมีชื่อให้ยาว ๆ ขึ้นอีกนิด ซึ่งคนในยุคสมัยนั้นกำลังนิยมชื่อที่ยาว ๆ ที่สำคัญมันแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเอง ที่เขาได้ “ปลดแอก” จากสังคมเก่า” ที่เขาคิดว่าเมื่อเขาอายุได้ 20 ปี คือบรรลุนิติภาวะแล้ว เขาจะได้เติบโต “เป็นผู้เป็นคน” เสียที
แม่ถามเขาในวันหนึ่งเมื่อได้รับจดหมายที่จ่าหน้าถึง “นายเฮงสวัสดิ์” เขาจึงรับสารภาพว่าคือชื่อใหม่ของเขา และโกหกแม่ไปว่าเขาเปลี่ยนเพื่อ “แก้เคล็ด” ซึ่งพ่อกับแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งยังอวยชัยให้พรอยู่หลายวัน ซึ่งเขาคิดว่าคำอวยพรของพ่อกับแม่นี่เองที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ “เฮง” คือโชคดีในชีวิต เพราะในการทำงานของเขาภายหลังสำเร็จการศึกษา ก็ได้พ่อกับแม่นั่นเองที่ไปขอฝากฝังกับเถ้าแก่ที่แม่เย็บเสื้อโหลส่งให้ พอดีกับที่เถ้าแก่กำลังขยายกิจการส่งออกเสื้อผ้าไปต่างประเทศ เลยต้องการคนที่รู้เรื่องบัญชีดี ๆ และจากที่เถ้าแก่ได้รู้จักพ่อและแม่ของเขาเป็นอย่างดี ก็ทำให้เถ้าแก่ตัดสินใจได้ไม่ยาก และรับเฮ้งเข้าทำงานทันที
ในปีแรกที่เขาเข้าทำงานในบริษัทของเถ้าแก่ เขาก็ได้พบกับ “ปรียาภา” บัณฑิตสาวด้านการบริหารธุรกิจ ที่มาสมัครทำงานในปีเดียวกันนั้น ปรียาภาหรือ “อ้อย” ไม่ใช่คนสวย แต่เป็นคนพูดเก่ง มีเรื่องมาคุยกับคนโน้นคนนี้ได้หลาย ๆ เรื่องทุก ๆ วัน ถ้าคนไม่ชอบก็จะบอกว่าเธอพูดมาก “น่าเบื่อ” แต่ถ้าคนตั้งใจฟังอย่างเฮ้ง ก็จะรู้สึกว่าน่าฟัง โดยเฉพาะน้ำเสียงที่ “เจื้อยแจ้ว” เหมือนเสียงนกแก้วของเธอ แม้จะฟังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดเรื่องอะไร ก็ยังชวนฟังด้วยน้ำเสียงที่ร่าเริงสดใสดังกล่าว
อ้อยทำงานอยู่ในตึกห้องเดียวกันกับเฮ้ง อ้อยต้องเอายอดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาส่งให้เฮ้งอยู่ตลอดเวลา เมื่อเฮ้งทำบัญชีและเอาไปรายงานให้เถ้าแก่กับหุ้นส่วนฟัง และถ้าหากเถ้าแก่และหุ้นส่วนมีข้อติติงอะไร เขาก็จะเอาข้อติติงเหล่านั้นมาบอกแก่ผู้รับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ รวมถึงฝ่ายขายของอ้อยนั้นด้วย ทำให้เฮ้งจึงเหมือนผู้ประสานงานระหว่างผู้บริหารกับพนักงานของบริษัทอยู่กลาย ๆ นั่นเองที่เป็นเหตุให้เฮ้งได้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีในเวลาต่อมาอีกไม่นาน รวมถึงที่ได้ทำให้เขามีความสนิทสนมกับอ้อยมากขึ้นทุกวัน ๆ จนถึงขั้นที่พาอ้อยเข้าบ้าน ไปรู้จักกับพ่อและแม่ และคนทั้งสองก็ชอบอ้อยในทันที เพราะเป็นคนที่ช่างพูดเอาอกเอาใจ ที่สำคัญอ้อยยังเป็นแม่บ้านการเรือน ที่ผู้หญิงในยุคสมัยใหม่นั้นมีน้อยเต็มที
ปีต่อมาทั้งสองคนก็แต่งงานกัน และอ้อยก็มาอยู่ในบ้านของเฮ้ง ซึ่งก็เข้ากับแม่ของเฮ้งได้เป็นอย่างดี ด้วยความขยันขันแข็งของอ้อย แม้จะเป็นคนที่ชอบพูดมาก แต่ก็ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยหรือลำบากอะไร แต่ในความที่ชอบพูดมาก ๆ นั้นก็ยิ่งทำให้ในบ้านมีชีวิตชีวา ยิ่งเป็นเวลาที่ดูละครโทรทัศน์ อ้อยก็จะบรรยายเรื่องเกร็ดโน้นเกร็ดนี้ รวมถึงที่ “นินทาดารา” ด้วยความรู้ที่ซอกแซกของเธอ ก็ยิ่งทำให้เธอเป็น “สะใภ้คนโปรด” ของแม่ และยิ่งพอเธอมีลูกคนแรกออกมาเป็นผู้ชายก็ยิ่งทำให้เป็นที่รักของครอบครัวมากขึ้นไปอีก เพราะลูกของพี่ ๆ คนอื่นที่แต่งงานไปก่อนเขานั้นมีแต่ลูกสาว ซึ่งครอบครัวคนจีนจะนิยมให้ครอบครัวมีลูกชายมากกว่า
อ้อยมาทำให้เฮ้งและครอบครัวของเขา “ได้ดังฝัน” แต่ฝันนี้จะจีรังยั่งยืนหรือไม่ เพราะฝันทั้งหลายนั้นย่อมเปลี่ยนไปได้ต่าง ๆ นานาเสมอ