วันที่ 27 ม.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 147,330 คน ตายเพิ่ม 744 คน รวมแล้วติดไป 674,168,661 คน เสียชีวิตรวม 6,753,161 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.72 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.39
...Update การประชุมของ US FDA
เมื่อคืนนี้มีการประชุมสำคัญเกี่ยวกับแผนการให้วัคซีนแก่ประชาชนของคณะกรรมการ VRBPAC
ประชุมกันถึงเกือบหกโมงเย็นของอเมริกา หรือหกโมงเช้าของไทยวันนี้
สาระสำคัญที่เกิดขึ้นคือ กรรมการโหวต 21:0 เห็นด้วยกับการใช้วัคซีนแบบ Bivalent (มีสายพันธุ์ดั้งเดิมร่วมกับสายพันธุ์ BA.4/5) เป็นองค์ประกอบหลักสำหรับวัคซีนที่ให้แก่ประชาชนในอเมริกา โดยจะใช้แทนวัคซีนรุ่นดั้งเดิมตั้งแต่เข็มแรกไปจนถึงเข็มกระตุ้น
โดยมีการนำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Bivalent นั้นจะสามารถลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้ 16 เท่า และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้ 13 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
และคนที่ได้วัคซีน Bivalent นั้น จะลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้ 3 เท่า และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้ 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแต่ไม่ได้รับวัคซีน Bivalent เป็นเข็มกระตุ้น
อีกประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการประชุมคือ การหารือเกี่ยวกับแนวทางการฉีดวัคซีนในอนาคตว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้มีการร่างข้อเสนอเพื่อพิจารณาตามที่มีข่าววันก่อนว่าจะเสนอให้ฉีดปีละครั้งสำหรับคนที่เคยได้วัคซีนครบมาก่อน แต่สรุปว่ายังไม่มีการฟันธง และคาดว่าทาง VRBPAC จะให้ทาง the Advisory Committee on Immunization Practices ของ US CDC พิจารณาอีกที
ความเคลื่อนไหวข้างต้น สะท้อนให้เราเห็นว่าวัคซีน Bivalent นั้นจะเป็นเครื่องมือป้องกันหลักที่จะได้รับการใช้ในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 และอนาคตจะมีการปรับปรุงวัคซีนตามสายพันธุ์ย่อยที่คาดการณ์ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาด ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นในระยะยาวนั้นยังไม่มีความชัดเจน จำเป็นต้องติดตามกันต่อไป
...อัพเดต Long COVID
Landry M และคณะจากมหาวิทยาลัย George Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ Emerging Infectious Diseases ฉบับมีนาคม 2566
ศึกษาตั้งแต่กรกฎาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 ในกลุ่มนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยจำนวน 1,338 คนที่ติดเชื้อโควิด-19
พบว่ามีผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID กว่าหนึ่งในสาม (36%)
ปัญหา Long COVID พบมากในกลุ่มคนที่ติดเชื้อแบบมีอาการ และ/หรือมีหลายอาการ, คนที่มีโรคประจำตัว, เพศหญิง, คนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ, คนที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบมาก่อน
นอกจากนี้ยังพบว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจนครบ จะช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ราวครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
...สำหรับไทยเรา
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Vaccines and Related Biological Products Advisory Committee January 26, 2023 Meeting. US FDA.
2. Live blog: Tracking the meeting of the FDA advisory panel on Covid vaccines. STAT News. 27 January 2023.
3. FDA Advisory Committee Votes to Unify the Strain Composition of COVID-19 Primary and Booster Vaccines. Contagion Live. 27 January 2023.
4. Landry M et al. Postacute Sequelae of SARS-CoV-2 in University Setting. Emerging Infectious Diseases. Volume 29, Number 3—March 2023.