วันที่ 26 ม.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 171,902 คน ตายเพิ่ม 849 คน รวมแล้วติดไป 673,903,961 คน เสียชีวิตรวม 6,750,876 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน บราซิล และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.27 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.02

...สถานการณ์โควิดในเด็กทั่วโลก

Naeimi R และคณะ จากอิหร่าน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาทบทวนข้อมูลวิชาการตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 จนถึงกรกฎาคม 2565

ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ eClinicalMedicine ฉบับกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีงานวิจัย 247 ชิ้น จาก 70 ประเทศทั่วโลก (ภาพที่ 1)

พบว่า อัตราความชุกของการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีอัตราติดเชื้อราว 7.3% ในระลอกแรก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 37.6% ในระลอกที่ 5

และสูงขึ้นไปเป็น 56.6% ในระลอกที่ 6 เมื่อปีที่แล้ว

เด็กโตติดเชื้อมากกว่าเด็กเล็ก

ทวีปที่มีอัตราติดเชื้อสูงได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (17.9–81.8%) และแอฟริกา (17.2–66.1%) ในขณะที่ภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตกมีอัตราติดเชื้อต่ำสุด

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการที่จะช่วยกันดูแล ป้องกันเด็กๆ เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนมากเกือบครึ่งที่ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้การพาเด็กๆ ไปรับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตก็มีความจำเป็น

...อัพเดตประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี

Watanabe A และคณะ จากประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการเผยแพร่ผลการศึกษาทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน ลงในวารสารกุมารแพทย์ระดับสากล JAMA Pediatrics เมื่อ 23 มกราคม 2566

โดยมีงานวิจัยทั้งหมด 17 ชิ้นทั่วโลก และทำการเปรียบเทียบผลของการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กอายุ 5-11 ปี ทั้งมีเด็กที่ได้รับวัคซีนไป 10,935,541 คน เปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน 2,635,251 คน

พบว่า การได้รับวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ, ป่วยนอนรพ., เสียชีวิต, รวมถึงการเกิดภาวะอักเสบหลายอวัยวะทั่วร่างกาย (MIS-C) ได้อย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 2)

ในขณะที่อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการฉีดวัคซีนนั้น เกิดขึ้นในอัตราที่น้อยมาก (ภาพที่ 3)

ผลการศึกษานี้จึงช่วยยืนยันเรื่องประโยชน์จากการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กอายุ 5-11 ปี และเรื่องความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนนั้นเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองของเด็กๆ ได้ทราบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง

...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

1. Naeimi R et al. SARS-CoV-2 seroprevalence in children worldwide: A systematic review and meta-analysis. eClinicalMedicine. February 2023.

2. Watanabe A et al. Assessment of Efficacy and Safety of mRNA COVID-19 Vaccines in Children Aged 5 to 11 Years: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Pediatrics. 23 January 2023.