สวน 15 นาที คือ นโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะได้ภายในเวลา 15 นาที หรือห่างจากชุมชนบ้านเรือนประมาณ 800 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปสวนสาธารณะหลักๆที่มีอยู่เพียงอย่างเดียว

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สวน 15 นาทีคือภาพสะท้อนความเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน นอกจากอยู่ใกล้ชุมชนและเข้าถึงง่ายแล้ว จุดประสงค์ที่ซ่อนอยู่คือการหาพื้นที่ให้คนพักผ่อนจากเรื่องรกๆในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เวลากับสุขภาพกายและใจมากขึ้น รวมถึงมุ่งหวังเรื่องสิ่งแวดล้อม การดักจับฝุ่นด้วยใบไม้ การฟอกอากาศด้วยต้นไม้ และการเปิดหน้าดินให้น้ำสามารถซึมซับเก็บกักได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกวัยสามารถใช้ประโยชน์ได้ และยังมีแผนใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต เช่น เชื่อมโยงกับกิจกรรมดนตรีในสวน หรือ กิจกรรมสนับสนุนนักดนตรีเปิดหมวกที่ กทม.กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันโดยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงมีการพิจารณาให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ ขึ้นอยู่กับการสำรวจความต้องการของแต่ละเขต

“เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนไม่ได้มีแต่เรื่องเศรษฐกิจดีอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือคนต้องมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย มีอากาศดีให้หายใจ มีพื้นที่สีเขียวเพื่อต่อสู้กับมลพิษมากขึ้น เด็กและคนชราสามารถเข้าถึงได้ คนทำงานใช้เป็นที่พักผ่อนออกกำลังกายได้ ไม่ใช่ให้เขาเดินทาง 1-2 ชั่วโมงกว่าจะเจอสวนสาธารณะ คำว่าเมืองน่าอยู่ต้องเริ่มที่สุขภาพประชาชนดี สิ่งแวดล้อมดี อากาศดี แล้วอย่างอื่นก็จะตามมา”

ปัจจุบัน กทม.เปิดใช้สวน 15 นาทีแล้ว 13 สวน และเตรียมที่ดินเพื่อทำเพิ่มอีก 107 แห่ง แบ่งเป็นที่ดินของ กทม. 42 แห่ง ของเอกชน 27 แห่ง ที่เหลือเป็นที่ดินจากรัฐวิสาหกิจ เช่น การทางพิเศษ การรถไฟ เป็นต้น รวมพื้นที่ทั้งหมดขณะนี้ 659 ไร่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มปีละอย่างน้อย 30 สวน ผ่านงบประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี

นายพรพรหม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกำลังให้แต่ละเขตสำรวจความต้องการของประชาชน เช่น พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น จำนวนสวนก็ต้องเพิ่มขึ้นตามเพื่อรองรับ ส่วนพื้นที่ใดมีผู้เลี้ยงหมาและแมวมาก สำนักงานเขตจะเป็นผู้พิจารณาว่าควรเปิดให้สัตว์เลี้ยงเข้าได้หรือไม่ ส่วนพื้นที่ใดใกล้สวนสาธารณะอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมี สำหรับพื้นที่ที่กำลังเร่งหาพื้นที่ทำสวน 15 นาที ได้แก่ เขตสวนหลวง เขตบางซื่อ เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตพระโขนง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ยังหาที่ดินไม่ได้ เนื่องจาก ข้อพิจารณาสำหรับผู้ที่จะให้ กทม.ยืมที่ดินเพื่อทำสวนต้องอนุญาตให้ทำไม่ต่ำกว่า 7 ปี รวมถึง ต้องเป็นที่ที่มีผู้ใช้งาน คุ้มค่ากับการลงทุน จึงจะได้รับการพิจารณา แต่หากเจ้าของที่ดินอนุญาตไม่ถึง 7 ปี กทม.จะไม่รับพิจารณา

สำหรับการดูแลสวนในแต่ละพื้นที่ กทม.มอบหมายให้สำนักงานเขตเป็นผู้ดูแล โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผ่านการตั้งคณะกรรมการชุมชน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันในแต่ละชุมชน ส่วนการออกแบบสวนยึดหลักเดินทาง 15 นาที ไม่เกิน 800 เมตร ขนาดของสวนแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับการสำรวจความต้องการของประชากร และพื้นที่ที่ได้รับมา อาจเป็นสวน 15 นาทีที่มีขนาดใหญ่มากก็ได้หากมีพื้นที่มากพอและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

รูปแบบของสวนจึงขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละชุมชน แต่ละเขต ไม่มีแบบตายตัว อาจเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ที่แน่ๆ หากไม่มีผู้สนับสนุนที่ดิน สวน 15 นาทีจะเกิดขึ้นไม่ได้’

ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณดูแลสวน 15 นาทีปีละ 30 ล้านบาท ทำไมไม่นำเงินส่วนนี้ไปดูแลพัฒนาสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯให้ดีขึ้น เช่น สวนเบญจกิติ ที่บางจุดต้นไม้เหี่ยวแห้งไปตามเวลา นายพรพรหม ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นการใช้งบประมาณคนละส่วนกัน สวนสาธารณะหลักใน กทม.มีงบประมาณดูแลอยู่แล้ว ส่วนการใช้งบประมาณสำหรับสวน 15 นาที เหตุผลคือ มีคนจำนวนมากที่ไม่สะดวกเดินทางมาสวนสาธารณะหลักในกรุงเทพฯ อาจติดขัดเรื่องการเดินทาง เวลา และค่าใช้จ่าย

ขณะที่การเดินทางมาสวนสาธารณะแต่ละครั้งสร้างมลพิษไม่น้อย ดังนั้น สิ่งที่ กทม.ให้ความสำคัญคือ ทำไมประชาชนจึงไม่มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน โดยเฉพาะตอนเช้า การเดินทาง 1-2 ชั่วโมง ไปออกกำลังกายเป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร ‘กทม.ต้องการสร้างสวนสาธารณะใกล้บ้านคนมากที่สุด โดยคำนึงถึงสัดส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที’ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันคนเข้าถึงสวนสาธารณะประมาณ 20% กทม.ต้องการเพิ่มจำนวนผู้เข้าถึงให้ได้มากที่สุด ผ่านสวน 15 นาที ซึ่งเป็นเป้าหมายประกอบการชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

“พื้นที่สีเขียว เป็นพื้นฐานของชีวิตคนในวันนี้ มันส่งผลถึงสภาพจิตใจ ร่างกาย สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอากาศ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลถึงคนในเมือง หากสิ่งแวดล้อมแย่ พื้นที่สีเขียวน้อยลง ก็ยากที่จะทำให้เมืองน่าอยู่ได้ เพราะเมืองน่าอยู่คือคนมีสุขภาพกายใจดี ต้องพัฒนาไปพร้อมกับด้านอื่นๆด้วย” นายพรพรหม กล่าวทิ้งท้าย