วันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพรพรหม ​วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.​ พร้อมด้วย​นายเอกชัย เพียรศรีวัชรา​ รองอธิบดีกรมอนามัย​ นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ​ นายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และน.ส.วรนุช สวยค้าข้าว​ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.​​ ได้ร่วมแถลงมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 สูง ใน กทม. ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. 66

ทั้งนี้นายพันศักดิ์ ได้กล่าวประเด็นน่าสนใจตอนหนึ่งว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามแต่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ส่วนวันที่ 24 ม.ค. เกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ขณะที่วันนี้พบคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นพื้นที่สีฟ้า แต่ค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ก.พ.

ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือน เม.ย. โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM 2.5 มากที่สุดคือเดือน ก.พ.