วันที่ 25 ม.ค.66 นายพรพรหม ณ.ส.​วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ พร้อมด้วย​ นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา​ รองอธิบดีกรมอนามัย​ นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงกรมควบคุมมลพิษ​ นางสาววรนุช สวยค้าข้าว​ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร​ และนายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมแถลงข่าวมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 สูงในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. 66​ ณ​ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง

​นายพรพรหม กล่าวว่า กทม.แบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย 1.การติดตามและแจ้งเตือน โดยตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เปิดให้แจ้งสถานการณ์ฝุ่นผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ และการคาดการณ์ฝุ่นล่วงหน้าภายใต้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ 2.การกำจัดต้นตอฝุ่น เช่น ตรวจรถควันดำ การเผาในที่โล่ง ตรวจโรงงานต่างๆ โดยร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งกรมการขนส่ง และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 3.การป้องกันสุขภาพ และแนวทางปฏิบัติตนกรณีค่าฝุ่นสูง เนื่องจากเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการแถลงในวันนี้

นายพันศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นเกิดขึ้นในฤดูหนาว โดยกรมควบคุมมลพิษมีการติดตามล่วงหน้า 7 วันมาตลอด ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์ฝุ่นเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. และเริ่มรุนแรงขึ้นในวันที่ 24 ม.ค. และจะรุนแรงอีกครั้งในวันที่27 ม.ค. และ 1 ก.พ. ซึ่งจะทรงตัวไปถึงเดือนเมษายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้แล้งกว่าปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น จากสถิติเดือนที่มีฝุ่นสูงคือ เดือนกุมภาพันธ์

นายศักดา กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นสูง คือ เพดานการลอยตัวของอากาศ หรือชั้นบรรยากาศสุดท้ายต่ำลง เปรียบเสมือนเพดานห้องของกรุงเทพฯ หากเพดานห้องต่ำฝุ่นจะไม่มีที่ไป ประกอบกับความเร็วลมต่ำ ทำให้ฝุ่นยังคงอยู่ในพื้นที่ ลักษณะนี้เกิดขึ้นในฤดูหนาว อากาศเย็นแผ่ตัวปกคลุมพื้นที่ ทำให้เพดานต่ำลง โดยปกติ เพดานชั้นบรรยากาศสุดท้ายจะสูง 1,500 - 2,000 เมตร แต่ช่วงวันที่ 22-24 ม.ค.ที่ผ่านมาพบเพดานสูงไม่เกิน 500 เมตร จึงเกิดสถานการณ์ฝุ่นรุนแรง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม แต่ในฤดูร้อนแม้จะมีปริมาณฝุ่นเท่ากันแต่ไม่พบปัญหาเนื่องจากเพดานชั้นบรรยากาศกลับไปสูงตามปกติ แต่ต่ำเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นจะกลับมารุนแรงในวันที่ 27 ม.ค. และจะคลี่คลายในวันที่ 28 ม.ค. ส่วนในวันที่ 31 ม.ค. ถึง 1 ก.พ. สถานการณ์ฝุ่นก็จะกลับมารุนแรงเหมือนเดิม ดังนั้น ไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นได้ เช่น การจราจร เครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การปิ้งย่าง การเผาในที่โล่ง

นางสาววรนุช กล่าวว่า กทม.ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวางแผนการทำงาน ผ่านข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศของ กทม. 70 สถานี เพื่อประเมินค่าฝุ่นในแต่ละวัน พร้อมคาดการณ์ล่วงหน้า 3-7 วัน โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 ระดับ คือ 1.ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะดำเนินการตามแผน 15 มาตรการ เช่น ตรวจแหล่งก่อสร้าง ตรวจโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น 1,044 แห่ง เดือนละ 2 ครั้ง เป็นต้น รวมถึงตรวจแหล่งไฟไหม้ จากข้อมูลพบว่า เมื่อวานนี้(24ม.ค.) พบเหตุไฟไหม้หญ้า 15 จุด และวันที่ 23 ม.ค.พบ 11 จุด จึงขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นสามารถแจ้งได้ที่ 1999 หรือ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟ

2.ค่าฝุ่นเกิน 37.6 - 50 มคก./ลบ.ม. กรมโรงงานลงตรวจโรงงานในความดูแลรับผิดชอบร่วมกับ กทม.เพิ่มอีก 260 แห่ง รวมทั้งโรงงานคอนกรีตสำเร็จรูปอีก 133 แห่ง และตรวจรถควันดำจาก 14 จุด เป็น 20 จุด ในความถี่จาก 2 วันเป็น 4 วันต่อเดือน 3.ค่าฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม. กทม.แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จุดก่อสร้าง โรงงาน เพื่อขอความความมือระงับการผลิตที่ก่อให้เกิดฝุ่นชั่วคราว และขอความร่วมมือให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง 4.ค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขอความร่วมมือประชาชน ผู้ประกอบการ ทำงานที่บ้าน เพื่อหยุดการเดินทางซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฝุ่น

นายแพทย์เอกชัย กล่าวว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ทั่วประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ตาอักเสบ มีสาเหตุมาจากฝุ่นในเดือนธันวาคม 110,000 ราย เดือนมกราคมเพิ่มขึ้นอีก 90,000 ราย พื้นที่ส่วนใหญ่พบที่ภาคเหนือและภาคกลาง ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัว อาการเบื้องต้น ตาแดง เจ็บตา คันคอ น้ำมูกไหล ส่วนอาการรุนแรง คือ หายใจลำบาก เหนื่อย แน่นหน้าอก วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ ทำความสะอาดบ้าน ไม่เผาโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นสูงไม่ควรออกจากบ้าน งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย N95 ช่วยกัน PM2.5 ได้ 95% หากสวมหน้ากากอนามัยทั่วไปกัน PM2.5 ได้ 70% แนะนำให้สวมสองชั้น ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวให้เตรียมยารักษาให้พร้อมอยู่เสมอ หากต้องการคำปรึกษาสามารถโทรได้ที่ สายด่วน 1478