วันที่ 25 ม.ค.66 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ระบุว่า ...
ห็นทีช่วงนี้คนกรุงเทพจะปลดหน้ากากในที่สาธารณะยังไม่ได้ แม้โควิดจะซาลงไปมากแล้วก็ตาม แต่ฝุ่นกำลังตลบมากอยู่ตอนนี้จากเจ้าตัวจิ๋ว PM2.5 โดยไม่เกี่ยวกับนักการเมืองซึ่งกำลังวิ่งย้ายพรรค ดังรูปที่ถ่ายตอนสายแต่ไม่เห็นทัศนียภาพอันสวยงามของเมืองหลวงเช่นเคย สาเหตุหลักน่าจะมาจากปรากฏการณ์ “อุณหภูมิผกผัน” ดังในวิดีโอ ประกอบกับมนุษย์เริ่มมีกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้นหลังโควิดซา
แปดโมงเช้าเช็คแอป A4Thai ไอ้หยา ปริมาณฝุ่นเฉลี่ยในรอบ 24 ชม.(average of cumulative) พุ่งไป 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่พอเข้าไปดูค่าที่วัดขณะนั้น (real time) แทบลมจับ ขึ้นไปที่ 91 ดังรูป พอมาดูระดับการเตือนภัยในแอป ยังให้เป็นสีส้มหรือเริ่มมีผลกระทบ ทั้งที่ควรจะเป็นสีแดงหรือมีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพได้แล้ว เพราะค่าเกิน 90 ตามมาตรฐานเดิมที่หน่วยราชการไทยใช้อยู่ ทั้งที่เสนอให้แจ้งค่าเตือนภัยสำหรับคนทั่วไปเป็นค่า real time ส่วนค่า average of cumulative ให้ใช้สำหรับผู้บริหารสำหรับตัดสินใจดำเนินการเชิงนโยบาย และขอให้ปรับลดตัวเลขสีส้มลงมาที่ 37.5 และสีแดงลงมาที่ 75 ตามที่ประเทศเจริญแล้วเขาทำกัน (ที่จริงต้องต่ำกว่านี้อีก) คนไทยไม่ได้ทนต่ออากาศเป็นพิษได้มากกว่าคนชาติอื่น
ขอเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. เร่งออกพรบ.อากาศสะอาด ที่เป็นการแก้ไขเชิงระบบ ขณะนี้ภาคประชาชนผลักดันจนผ่านรัฐสภาแล้ว เรื่องไปรออยู่ที่รัฐบาลเพราะถูกตีความว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน
2. การแก้ไขมลพิษในสิ่งแวดล้อม ควรเป็นนโนบายหนึ่งของพรรคการเมืองในการหาเสียง ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องเพิ่มเงินในทุกรูปแบบ
3. ปรับวิธีการและค่าอันตรายในการเตือนภัยต่อสุขภาพตามข้อเสนอข้างต้น
4. ขอความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ช่วยกันสื่อสารข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักกับประชาชน ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิด PM2.5 และแนวทางการดูแลสุขภาพในช่วงคุณภาพอากาศเลวร้ายระหว่างรอการแก้ไขในระยะยาว
#รักษ์ปอดห่างไกลฝุ่น