กลายเป็นประเด็นร้อนแรงระหว่างประเทศไปซะแล้ว! หลังจากที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ของกัมพูชา ประกาศบรรจุกีฬา "มวยเขมร" หรือ "กุน ขแมร์"  (Kun Khmer) โดยอ้างว่าเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติกัมพูชา แทนกีฬา "มวยไทย" ซึ่งเป็นศิลปะการป้องกันตัวของไทย 

โดย "กัมพูชา" ได้มีการตั้งองค์กรที่ชื่อว่า "สหพันธ์กุน ขแมร์นานาชาติ" ขึ้นมา เพื่อดูแลการแข่งขันในซีเกมส์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้เป็นสหพันธ์กีฬาที่อยู่ภายใต้การดูแลของอิฟม่า ไม่ได้เป็นกีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี) รวมทั้งสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) 

ทั้งนี้ ทำให้ไทยไม่สามารถส่งแข่งขันได้ เนื่องจากผิดระเบียบการแข่งขัน ไทยจึงตัดสินใจไม่ส่งนักมวยไปแข่งขันดังกล่าว และคาดว่า อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย,และเวียดนาม ก็จะไม่ส่งไปแข่งขันด้วยเช่นกัน

- "กุน ขแมร์"  (Kun Khmer) คือกีฬาแบบไหน

"กุน ขแมร์" เป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศกัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ "Kbach Kun Pradal Khamm" หมายถึง "การต่อสู้อย่างอิสระ" ใช้อวัยวะเป็นอาวุธต่อสู้ ได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก รวมถึงใช้การเข้ากอดเพื่อโจมตีระยะประชิด โดยนักสู้ชาวกัมพูชามักจะใช้ศอกโจมตีมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ 

"กุน ขแมร์" เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ยุคอาณาจักรขอม เป็นการต่อสู้ที่ใช้ในกองทหารของอาณาจักร มีรากฐานมาจากการต่อสู้แบบประชิดตัว จากหลักฐานในภาพนูนต่ำและนูนสูงตามปราสาทหินต่างๆแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบคล้ายการต่อสู้ชนิดนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 

อย่างไรก็ตามในช่วงยุคอาณานิคม ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ถูกเจ้าอาณานิคมจากยุโรปมองว่าเป็นสิ่งโหดร้ายและไร้อารยธรรม ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสพยายามเปลี่ยนศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ให้กลายเป็นกีฬาโดยเพิ่มกติกาบางอย่างเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจับเวลา แบ่งการแข่งขันเป็นยก การสู้ในเวทีมวย และให้ใช้นวมชกมวยแบบตะวันตกเพื่อลดอาการบาดเจ็บ

ปัจจุบัน กุน ขแมร์ ควบคุมโดยสหพันธ์มวยกัมพูชา (CBF) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1961 โดยผู้ตัดสินและนักมวยทุกคนต้องมีการขึ้นทะเบียนอนุญาตจาก CBF สถานีโทรทัศน์ที่จัดการแข่งขันมวยก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ CBF (แต่ละสถานีมีหน้าที่จัดนักมวย ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และนักดนตรี ส่วน CBF จัดหาผู้ตัดสินการแข่งขัน และผู้รักษาเวลา) 

สำหรับรูปแบบการแข่งขัน "กุน ขแมร์" ในปัจจุบัน จะชกกันทั้งสิ้น 5 ยก ยกละ 3 นาที และจัดขึ้นที่เวทีมวย ขนาด 20 x 20 ฟุต จะมีการพัก 1.30-2.00 นาที ระหว่างยก ซึ่งก่อนเริ่มแข่งขันแต่ละคู่ จะมีพิธีกรรมสวดมนต์และไหว้ครูตามธรรมเนียมของชาวเขมรโบราณ โดยมี 17 รูปแบบ มีพื้นฐานมาจากตัวละครหลักของเรื่อง รามเกียรติ์ และระหว่างการแข่งขัน จะมีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองของกัมพูชาด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ย.2565 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน คุน ละบ๊อกกาตาว (Kun Lbokator) หรือ ศิลปะการต่อสู้ของกัมพูชา หรือที่รู้จักกันว่า "กุน แขมร์" (มวยเขมร) ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ