วันที่ 25 ม.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 146,776 คน ตายเพิ่ม 799 คน รวมแล้วติดไป 673,656,823 คน เสียชีวิตรวม 6,748,960 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.56 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.09

...อัพเดตจาก WHO

เมื่อวานนี้ 24 มกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้แถลงกับสื่อมวลชนว่า ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโควิด-19 ไปมากกว่า 170,000 คน

เฉลี่ยแล้วมีอัตราตาย 10,000-30,000 คนต่อสัปดาห์

ถือว่าเป็นตัวเลขความสูญเสียที่สูง และเป็นเพียงตัวเลขที่ได้รับรายงาน สถานการณ์จริงในแต่ละพื้นที่อาจมีจำนวนเสียชีวิตมากกว่านี้

...ความสูญเสียจากโควิด-19 ปีแรกในฝรั่งเศส

Haneef R และคณะ จากประเทศฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ผลการวิจัยประเมินผลกระทบโดยตรงจากโรคโควิด-19

พบว่าในปี 2563 เพียงปีเดียว ฝรั่งเศสเกิดความสูญเสียจากการป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวนมาก

โดยคิดเป็นจำนวนปีที่สูญเสียรวม (Disability-adjusted life years: DALYs) ถึง 990,710 ปี ในจำนวนนี้เป็นปีที่สูญเสียจากการเสียชีวิต (Years of life loss: YLL) ราว 982,531 ปี และจำนวนปีจากภาวะทุพพลภาพ (Years lived with disabilities: YLD) ราว 8,179 ปี ทั้งนี้จำนวนปีจากภาวะทุพพลภาพจะเพิ่มขึ้นถึง 375% หากจำนวนคนเหล่านั้นประสบปัญหา Long COVID นานเฉลี่ยราว 5 เดือน

...การติดเชื้อ จึงไม่ใช่เรื่องที่กระจอก ชิลๆ เป็นแล้วหาย

แต่ติดแล้ว ป่วยได้ ตายได้ และเกิดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...แนวทางตรวจการติดเชื้อด้วยตนเองล่าสุดโดยอิงตาม US CDC/IDSA COVID-19 Clinician Calls

หากมีอาการ ตรวจด้วย ATK แล้วได้ผลบวก สรุปได้ว่าติดเชื้อ และให้ทำการแยกตัวจากผู้อื่น และดูแลรักษา

หากมีอาการ แต่ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ควรตรวจซ้ำทุก 48 ชั่วโมง อีก 1-2 ครั้ง

ถ้าตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ 3 ครั้ง ก็สรุปว่าไม่ติดเชื้อโควิด และน่าจะเป็นโรคอื่น

หรือหากใครไปทำการตรวจด้วยวิธี RT-PCR แล้วได้ผลลบ ให้คิดถึงว่าเป็นโรคอื่น ไม่ใช่โควิด

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีอาการใดๆ แต่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือสงสัยว่าตนเองไปรับเชื้อมาหรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อมา ก็ให้ตรวจด้วย ATK อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 48 ชั่วโมง ถ้าผลลบทั้งสามครั้ง ก็สรุปว่าไม่ติดเชื้อ

อ้างอิง

1. WHO Director-General's opening remarks at the media briefing. 24 January 2023.

2. Haneef R et al. Direct impact of COVID-19 by estimating disability-adjusted life years at national level in France in 2020. PLOS One. 24 January 2023.

3. Thornburg N. Current Variant Landscape and Diagnostic Testing Algorithm. CDC/IDSA COVID-19 Clinician Calls. 23 January 2023.