เมื่อวันที่ 24 ม.ค.66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมชี้แนวทางการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เข้าร่วม

นพ.โอภาสกล่าวว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย ประเทศต่างๆ ได้ทยอยเปิดประเทศ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานในการกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ซึ่งหนึ่งในแผนเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ คือ ให้จัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามความสมัครใจ โดยคิดค่าบริการที่เหมาะสม ภายใต้กลไก Medical hub โดยวัคซีนที่ให้บริการจะเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาเท่านั้น ไม่รวมถึงวัคซีนได้รับบริจาค และให้ทุกจังหวัดคำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลังที่จะไม่กระทบกับการให้บริการประชาชนไทย และจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนไทยเป็นลำดับแรก

นพ โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับชาวต่างชาติที่มาพำนักระยะยาวในไทย อาทิ ทำธุรกิจ ทำงาน คณะทูตและสมาชิกครอบครัว ยังคงรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบายเดิมของรัฐบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิดกับประชาชนทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ยึดตามหลักสากล โดยเป็นไปตามความสมัครใจและตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ดังนั้น ชาวต่างชาติที่นอกเหนือจากนักท่องเที่ยว ยังคงสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับคนไทยทุกประการ ในวันนี้จึงได้จัดประชุมชี้แจงให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการทุกจังหวัดมีความเข้าใจตรงกัน พร้อมนำเสนอตัวอย่างการดำเนินงานให้บริการวัคซีนโควิด 19 นำร่องสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะแรก ของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และศูนย์ฉีดวัคซีนบางรัก ทั้งนี้ ได้มีข้อสั่งการขอให้ทุกจังหวัดเปิดจุดบริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในจังหวัดใหญ่ๆ โดยย้ำว่าต้องไม่ให้กระทบกับการบริการฉีดวัคซีนให้คนไทย

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในการบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระยะนำร่อง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมการแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเมืองท่องเที่ยว สำหรับกรมควบคุมโรค ได้เตรียมพื้นที่ใน กทม. ไว้ 2 จุด คือ 1.ศูนย์การแพทย์บางรัก โดยเปิดให้บริการทุกวัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และ 2.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เขตบางเขน นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มจุดบริการในคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ในจังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา รวมทั้งยังมีหลายหน่วยงาน เช่น กรุงเทพมหานคร โรงเรียนแพทย์ ทยอยแจ้งความจำนงขอเป็นจุดบริการฉีดแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย

สำหรับอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แบ่งเป็น ค่าบริการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 800 บาทต่อเข็ม และไฟเซอร์ 1,000 บาทต่อเข็ม โดยมีค่าบริการทางการแพทย์อีก 380 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ขณะนี้เริ่มให้บริการแล้วในเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต

“ยืนยันว่าเรามีวัคซีนเพียงพอ ไม่กระทบการบริการฉีดในคนไทย โดยรายได้จากค่าบริการให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต้นสังกัดและกระทรวงการคลัง สำหรับการเปิดจุดบริการฉีดของภาคเอกชนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ให้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากต้องมีการวางแผนเรื่องแนวทางปฏิบัติและการกำกับติดตามที่แตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งหากมีแนวทางชัดเจนแล้วจะนัดประชุมชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะถัดไป” นพ.ธเรศกล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดร่วมเป็นจุดฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระยะนำร่อง รวม 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี และรพ.ประสาทเชียงใหม่ โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง และ รพ.ราชวิถี เป็นจุดฉีดหลัก เนื่องจากใกล้แหล่งพักอาศัยของนักท่องเที่ยว เดินทางสะดวก และทั้ง 2 แห่งมีบริการฉีดวัคซีนในชาวต่างชาติมานาน เจ้าหน้าที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี ขณะนี้ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน และเปิดให้กลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนล่วงหน้าได้ รวมทั้งได้มีข้อสั่งการให้โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ทั่วประเทศ อีก 30 แห่ง เป็นจุดบริการฉีดวัคซีนให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นการให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในประชาชนไทย เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต