นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนคร เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันไฟไหม้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ว่า ที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลตรุษจีนมักพบเหตุเพลิงไหม้จากสาเหตุต่างๆ เช่น การประกอบพิธีกรรมตามประเพณีไหว้บรรพบุรุษ การเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัท ห้างร้านต่างๆ มักจะหยุดกิจการ เพื่อเดินทางออกจากบ้านไปพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และเยี่ยมญาติพี่น้องยังต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีผู้อยู่ดูแลบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้เป็นเจ้าของบ้านให้สำรวจตรวจสอบสวิตช์ไฟต่างๆ ภายในบ้านให้เรียบร้อย ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ดับธูปเทียน ตลอดจนอุปกรณ์หุงต้มอาหารต่างๆ เช่น เตาแก๊ส ตู้อบไมโครเวฟ ก่อนจะออกจากบ้าน รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการระงับเหตุไฟไหม้ เช่น ถังดับเพลิง สัญญาณเตือนภัยให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานและวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการนำไปใช้
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการที่พักอาศัย ขอให้ช่วยจัดทำแผนผังอาคาร เส้นทางหนีไฟ จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงไว้บริเวณที่ผู้พักอาศัยสามารถมองเห็นได้ชัดเจน และสะดวกต่อการนำไปใช้เมื่อเกิดเหตุ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่พักอาศัยได้ระหนักถึงความร่วมมือในการป้องกันและระงับเหตุไฟไหม้ที่อาจจะเกิดขึ้น
นายสัมฤทธิ์ เปิดเผยต่อว่า ที่ผ่านมาเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและมองข้าม เช่น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซ จุดธูปเทียนทิ้งไว้ ทิ้งก้นบุหรี่โดยไม่ดับไฟให้สนิท รวมถึงตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าชิดกันเกินไป ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า ในปี 2565 ช่วงเดือมกราคม-พฤษภาคมกทม.พบเหตุเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือน 131 ครั้ง แบ่งเป็นเดือน มกราคม 39 ครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ 27 ครั้ง เดือนมีนาคม 13 ครั้ง เดือนเมษายน 32 ครั้ง เดือนพฤษภาคม 20 ครั้ง ส่วนเขตที่พบเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด ได้แก่ เขตบางขุนเทียน 8 ครั้ง เขตบางกะปิและเขตประเวศ 7 ครั้ง เขตบางแคและเขตราชเทวี 6 ครั้ง จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันระวังเหตุไฟไหม้ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากความประมาท และไม่ทันคาดคิด