"บิ๊กป้อม" เมินตอบสื่อปมลงพื้นที่ปาดหน้า"บิ๊กตู่" ด้านพีระพันธุ์แจงนายกฯเข้าใจ ลุงป้อม ปาดหน้าลงพื้นที่ ชี้เป็นหน้าที่นักการเมือง บอกใจกว้างหากพรรครัฐบาลใช้บัตรคนจนหาเสียง ธนกร ลาออก "ส.ส.สมาชิกพปชร. " ตามไปช่วยงานบิ๊กตู่ ขณะที่กกต. เตือน รมต.-ขรก. ระวังใช้ตำแหน่งให้คุณ-โทษต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ม.ค.66 ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาปฏิบัติภารกิจที่ตึกบัญชาการ 1 ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจบภาคภารกิจ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตอบคำถามสื่อมวลชนถึงข้อสังเกตว่าการลงพื้นที่ตรวจราชการที่มีกำหนดการไปล่วงหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนถูกมองว่าเป็นการปาดหน้าแซงคิว รวมถึงกรณี นายธนกร วังคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้กลับหลังพรรคพลังประชารัฐเปิดนโยบายเพิ่มเงินในบัตรประชารัฐเป็น 700 บาท โดย ระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นแนวคิดและผลงานของพล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ต้น ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีท่าทีเรียบเฉย และส่ายหัว ก่อนเดินขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปาดหน้าลงพื้นที่ในหลายจังหวัด ว่า เรื่องนี้ไม่ได้มองว่าเป็นการปาดหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติแต่อย่างใด หากใครจะมองเช่นนั้นก็แล้วแต่ สำหรับตนไม่ได้สนใจ การเมืองใหญ่ไม่ควรจะมาคิดเล็กคิดน้อย สำหรับตนไม่ได้ติดใจและไม่ได้มีปัญหาใดๆ ต่างคนต่างก็ต้องทำงานกันทั้งนั้น เข้าใจดีว่าทุกพรรคการเมืองก็ต้องลงพื้นที่กันทั้งนั้น เพียงแต่ใครจะลงแบบไหนอย่างไรก็แล้วแต่ เป็นนักการเมืองก็ต้องหัดใจกว้างกันบ้าง ไม่ใช่มาคิดอะไรจุกจิกๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ. ประยุทธ์คิดกับเรื่องนี้อย่างไร นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ได้คิด นายกฯไม่ได้คิด นายกฯเข้าใจว่าทุกคนก็ต้องทำงานเข้าใจดีถึงภาระหน้าที่ของพรรคการเมือง และหน้าที่การเป็นนักการเมืองก็ต้องแบบนี้ ทุกคนก็ต้องหาเสียง ต้องมีความใกล้ชิดประชาชน ทุกพรรคก็มีสิทธิที่จะทำแบบนี้เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแย่งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ได้แย่งหรอก โครงการนี้อันที่จริงมาจากนายกฯ ที่มาจริงๆ มาจากนายกฯ และก็ต้องถือเป็นของรัฐบาล เพราะฉะนั้นทุกพรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถใช้ได้หมด แต่ที่สำคัญคือมันเริ่มต้นมาจากนายกฯ แต่มันจะเป็นอย่างไรสุดท้ายขอให้ประชาชนได้ประโยชน์ ก็พอแล้ว
เมื่อถามว่า อย่างนี้แสดงว่าทุกพรรคสามารถนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ เสนอต่อประชาชน ได้ใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป็นนโยบายของนายกฯ แต่ว่าทำในนามของรัฐบาล พรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล หากจะนำไปพูดเราจะไปห้ามได้อย่างไร เพราะเขาก็มีส่วนร่วมในการทำโครงการนี้มา เรื่องแบบนี้อย่างที่ตนบอกแล้วว่ามันก็ต้องใจกว้างกันบ้าง เพียงแต่ว่า ข้อเท็จจริงคือมาจากไหน สุดท้ายก็ขอให้ประชาชนได้ประโยชน์ เมื่อถามว่า นายกฯก็ไม่ซีเรียสใช่หรือไม่ หากพรรคพลังประชารัฐจะนำไปใช้ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เราก็ใช้ได้ เขาก็ใช้ได้ เพราะมาจากรัฐบาลเหมือนกัน
เมื่อถามว่า หากพรรครวมไทยสร้างชาติจะใช้ต้องนำมาเปลี่ยนชื่อก่อนหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ก็ต้องมาดูกันอีกทีก่อน แต่บัตรอันนี้ก็เริ่มต้นมาจากนายกฯ เพราะฉะนั้น บัตรอันนี้นายกฯก็เห็นว่ามันสามารถช่วยประชาชนได้อยู่ และคงจะเดินหน้าต่อ เพียงแต่ในรายละเอียดจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเดินหน้าต่อแล้วจำนวนเงินจะบลัฟพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าจะบลัฟอะไรเลย แต่ละคนก็มีสิทธิที่จะคิดอะไร ที่สำคัญอย่าไปพูดจนไปกระทบงบประมาณแผ่นดิน การหาเสียงก็ต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่พูดจนสุดท้าย จำนวนตัวเลขฐานะการเงินของประเทศไปไม่ได้ อย่างนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง จะเอางบประมาณส่วนไหนมาก็ต้องดูด้วย ดังนั้นหลักการก็คือการจะเอาเงินใส่ไปในบัตรจะต้องไม่กระทบต่องบประมาณแผ่นดิน ต้องพยายามให้อยู่ในกรอบวงเงินเดิมให้มากที่สุดไม่ใช่มาใช้วิธีเกทับบลัฟกันไป มันไม่ได้อะไรขึ้นมา ใครๆก็สามารถเบิ้ลกันได้ทั้งนั้น ที่สำคัญทำได้หรือไม่ได้ และกระทบงบประมาณหรือไม่
ด้าน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐเป็น 700 บาทต่อเดือน ของพรรคพลังประชารัฐ ว่า ในปี 66 จะมีประชาชนได้รับสิทธิประมาณ 18 ล้านคน คนละ 700 บาทต่อเดือน จะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวมีการคำนวนแหล่งที่มาของงบประมาณมาจากที่ใดแล้ว ในส่วนของบัตรประชารัฐที่เราได้ทำมาตั้งแต่ปี 61 ไม่ใช่มีแค่เงินรายเดือน 200 หรือ 300 บาทเท่านั้น แต่ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ อีก อย่างเช่น ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าเดินทาง จิปะถะ เราพยายามจัดการสิ่งเหล่านี้ให้สอดคล้อง กับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ บางคนได้ไปก็ไม่ได้ใช้ ค่าเดินทางไม่ได้ใช้ แก๊สหุงต้มไม่ได้ใช้
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า เมื่อปี 61 ตนก็เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงนั้น เราอยากจะให้พี่น้องประชาชน ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถที่จะมีเงินประทังชีวิตต่อเดือน สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เขาสามารถไปซื้อ ข้าวสาร น้ำปลา อาหารแห้ง ได้ ในต่างจังหวัดอยู่ได้โดยไม่ลำบาก แต่ปัจจุบันสภาวะ ทางเศษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ ไม่ต่างกับประเทศไทย สินค้ามีราคาที่สูงขึ้นมาก ดั้งนั้นเงิน 200-300 บาทต่อเดือน ก็ไม่เพียงพอ เสียงสะท้อนก็ออกมาจากผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ที่ลงพื้นที่ไปพบปะกับประชาชนต่างก็บอกเงินไม่พอแล้ว
"พรรคพลังประชารัฐให้ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาวะกับทางเศรษฐกิจและปัจจุบัน ให้สู่กับสภาวะเงินเฟ้อได้ และจริงๆ ในนโยบาย ทั้งหมดไม่ใช่มี แค่ 700 บาท เรายังคงมุ่งหน้าทำการแก้ปัญหา ความยากจนอย่างยั่งยืน หมายความว่าต้องมีการฝึกอบรมให้ 700 บาท เป็นการให้ปลาไปเฉยๆ จะต้องมีการ ให้เบ็ดเขาด้วย แล้วก็สอนวิธีตกปลา"ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวด้วยว่า จากนี้พรรคพลังประชารัฐจะมีการแถลงนโยบายออกมาเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่านโยบายต่อไปที่น่าจะมีการประกาศก็คือนโยบายที่ดินประชารัฐ
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ตนร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐมา และได้เข้ามาเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐนั้น ต้องขอบคุณพล.อ.ประวิตรรวมถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่มอบโอกาสทางการเมืองให้ ซึ่งการทำหน้าที่ส.ส.ที่ผ่านมา ตนก็ตั้งใจทำหน้าที่ส.ส. รวมถึงตำแหน่งต่างๆ ในสภาอย่างเต็มที่ นับเป็นประสบการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่ได้รับจากผู้ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ ที่ไว้วางใจ และมอบหมายในตนทำหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันหนึ่งที่เดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง ตนจึงต้องกลับมาคิดไตร่ตรองอีกครั้งถึงอุดมการณ์ทางการเมือง และความมุ่งหวังที่ตนยังทำไม่สำเร็จในวันนี้ว่าตนควรจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป ยืนยันว่าแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนจะทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ตนยังต้องการจะทำเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป ดังนั้นเมื่อตนมองว่าตนยังมีความรู้ความสามารถที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะไปทำการเมืองกับพรรคการเมืองไหนที่จะทำให้อุดมการณ์และความมุ่งหวังของตนประสบผลสำเร็จได้มากที่สุด
พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า มีผลงานมากมายจับต้องได้ ที่สำคัญพล.อ.ประยุทธ์มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นผู้นำรัฐบาลมีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม จนนานาชาติต่างให้การยอมรับ ที่สำคัญคือความเมตตาและความไว้วางใจที่ท่านนายกฯ มอบให้กับผมตลอดมานั้น ทำให้วันนี้ผมตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรคฯ เพื่อไปช่วยงานท่านนายกฯ ร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อสานต่อนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการไว้ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามไม่ว่าอย่างไรผมก็ยังคงเคารพรักพล.อ.ประวิตร ท่านสมศักดิ์และท่านสุริยะอยู่เสมอ ซึ่งเชื่อว่าท่านจะเข้าใจ และยังคงเมตตาผมต่อไป นายธนกร กล่าว
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ นายวิสาร เตชะธีระวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง ตู้ห่าว กลุ่มทุนจีนธุรกิจสีเทา ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่ง นายชวนแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงแทน แต่วันนี้ไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้เนื่องจากติดภารกิจ
จากนั้น นายชวน ได้เปิดโอกาสให้นายวิสารพูดในฐานะผู้ตั้งกระทู้ถามสด ว่า เนื่องจากเป็นการตั้งกระทู้ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันจึงเห็นใจรัฐมนตรีที่บางครั้งอาจมาตอบไม่ทัน แต่ทำไมนายกฯ จึงไม่มอบให้รัฐมนตรีท่านอื่นมาแทน อยากถามว่าจะปล่อยให้ยุบสภาแล้วค่อยตอบหรือไม่ เรื่องที่จะถามถือว่าร้ายแรงมาก มีการแผ่อิทธิพลไปทุกหย่อมหญ้า ตัวท่านนายกรัฐมนตรีรู้ดี แต่ไม่กล้ามาตอบด้วยตนเองเพราะเกี่ยวข้องกับลูกหลานของท่าน เรื่องนี้จะเป็นมวยล้มต้มคนดูไม่ได้
"สัปดาห์หน้าผมจะถามเรื่องนี้อีก ขอให้นายกฯ มาตอบด้วยตัวเองหรือจะมอบให้ใครมาตอบก็ตาม ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่ลุกลามเพราะท่านต้องการสืบทอดอำนาจ มัวแต่ไปหาเสียง แต่ไม่ยอมตอบกระทู้เรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน" นายวิสาร กล่าว
วันเดียวกัน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวในการจัดอบรมให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัด รุ่นที่ 1 ที่จังหวัดหนองคาย ถึงคำสั่งของ กกต. ในการจับตาการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่า ในช่วงนี้อยู่ในช่วงหาเสียง แต่ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกกต. ไม่แน่ใจว่าใครจะลงสมัครรับเลือกตั้งบ้าง จึงสั่งให้ทำเป็นข้อมูลเอาไว้แต่หากทำในนามพรรคการเมืองก็ถือว่าเป็นผู้สมัคร เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการเลือกตั้งที่เป็นธรรมจากการแข่งขันของทุกพรรคการเมือง เป็นหน้าที่ที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูล
ช่วงนี้นักการเมืองลงพื้นที่หาเสียงที่ไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาว่า กกต. ไม่ดูแลกติกาในการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม หากมีรัฐมนตรีไปทำหน้าที่ปกติก็ไม่เป็นไร การลงพื้นที่ไม่เพียงแค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการในพื้นที่ก็ต้องระมัดระวัง ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณหรือให้โทษกับผู้สมัคร ช่วงนี้อยู่ในช่วงหาเสียง
"ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือส.ส. เข้าใจว่าทุกคนจะเข้าใจกฎหมายดี เราก็ทำงานของเรา จึงได้บอกกับผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้เก็บเป็นข้อมูล หากเป็นข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงก็ให้รายงานตรงยัง กกต. หากสถานการณ์ที่เป็นปกติทั่วไปไม่ต้องรายงานให้ทำเป็นบันทึกไว้เป็นข้อมูล เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำอยู่แล้ว "
เลขาธิการ กกต. กล่าวต่อว่า ทางพฤตินัยในการหาเสียงจะเริ่มนับตั้งแต่ห้วงเวลาที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นความเข้มข้นในช่วงนี้จึงยังไม่มา นั่นเพราะยังไม่แน่ชัดถึงเรื่องเขตการเลือกตั้ง จึงทำให้การหาเสียงจะทำให้เกิดกรณีถึงขั้นละเมิดกฎหมาย ตามรายงานจึงยังไม่มีเหตุการณ์ มีข้อร้องเรียนก็ต้องมาพิจารณาองค์ประกอบว่ามีความหมิ่นเหม่หรือไม่
ส่วนการประกาศของรัฐบาลมีวันหยุดยาวและอาจทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วง 7 พ.ค.66 นายแสวง กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับกกต. แต่กกต.ก็มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามปกติ ไม่ว่าจะตรงกับวันหยุดยาว4วันหรือ2วันก็ตาม หากจะต้องมีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสภาจะยุบด้วยเหตุปัจจัยอะไร อาจจะยุบสภาก่อนหรืออาจจะอยู่ครบวาระก็ได้
ทั้งนี้ นายแสวง กล่าวว่า เชื่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเข้าใจดีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เนื่องจากสาระสำคัญไม่ได้ต่างจากเดิม หากไม่มั่นใจก็สามารถทำหนังสือสอบถาม กกต. ทั้งส่วนกลางหรือจังหวัดก็ได้