เกาะติดการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2  เน้นให้ความรู้ดูแลสุขภาพแบบศาสตร์องค์รวมมีความเข้มเข้มมากขึ้น เพื่อเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปปฏิบัติและดูแลสุขภาพของตนเองและนำไปดูแลสมาชิกในครอบครัวให้แข็งแรง ปลอดภัยและลดการใช้ยา

ในช่วงบรรยายวิชาการ ผศ.พญ.จารุวรรณ เอกวัลลภ หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในหัวข้อ “อุบัติการณ์และกลไกการเกิดมะเร็ง” ว่า ประเทศไทย ปี 2022 คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็ง 190,636 ราย เสียชีวิต 124,866 ราย และในช่วง 5 ปีพบผู้ป่วย 426,366 ราย โดยมะเร็งที่พบมากสุดอันดับหนึ่ง คือ  มะเร็งตับ รองลงมา มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปากมดลูก


 
ทั้งนี้ เพศชาย พบเป็นมะเร็งตับมากที่สุด รองลงมา มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนเพศหญิงพบเป็น มะเร็งเต้านมมากที่สุดมีอัตราการเสียชีวิตน้อยสามารถรักษาหายได้ รองลงมา มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด
 
กลไกการเกิดมะเร็ง มะเร็งไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะใด เป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดจากยีน ตำแหน่งหนึ่งของไมโครโซม หรือ ส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ที่สามารถถอดรหัส ได้เป็นเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ได้มาแปลรหัสให้ไปเป็นโปรตีน ดังนั้น การเกิดมะเร็งอยู่ที่ยีน เป็นการกลายพันธุ์ของยีน เกิดการแบ่งตัวและเจริญเติบโตของเซลล์อย่างควบคุมไม่ได้ ปกติมีการแบ่งเซลล์และการตายของเซลล์ที่มีการกำหนดไว้ทำให้อยู่สภาวะสมดุล กระบวนการเกิดมะเร็งมีหลายขั้นตอนและมีความซับซ้อน มีปัจจัยถ่ายทอดทางพันธุกรรม และ สิ่งแวดล้อม
 
กระบวนการเกิดมะเร็งมีหลายขั้นตอน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ เยื่อบุผิวลำไส้ที่หนาขึ้น ต้องใช้วิธีการตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่  เพื่อตัดติ่งเนื้อที่เยื่อบุผิวผนังลำไส้ใหญ่เป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  
ยีนก่อมะเร็ง โดยมียีน 2 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง คือ ยีนที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเซลล์ อัตราการเกิดการเกิดและตายของเซลล์ ก่อมะเร็ง-ต้านมะเร็ง และ ยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดการกลายพันธุ์โดยไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจริญเติบโตของเซลล์ ยีนซ่อมแซมสารพันธุกรรม
 
ลักษณะจำเพาะของเซลล์มะเร็ง เช่น มีสัญญาณกระตุ้นเติบโตภายในเซลล์เอง เซลล์มีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดทางด้านสารอาหาร มีความสามารถในการรุกรานเนื้อเยื่อข้างเคียง มีความสามารถในการแพร่กระจายไปยังตำแหน่งห่างไกลได้ เช่นมะเร็งตั้งต้นที่ปอด แต่เซลล์มะเร็งสามารถกระจายไปที่สมองได้ รวมถึง การอักเสบเรื้อรังมีภาวะเสี่ยงเป็นมะเร็ง วิธีรักษามะเร็ง เช่น ใช้เคมีบำบัด ยาพุ่งเป้าที่ไปจับยีนส์ผิดปกติในร่างกาย ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในการักษามะเร็งออกฤทธิ์ช้าอยู่ยาวคงทน  
 
สาเหตุของการเกิดมะเร็ง ยีนเกิดการกลายพันธุที่มาจากพันธุกรรม 5 - 10% มะเร็งเต้านม รังไข้ ต่อมลูกหมาก ตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มดลูก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก กรวยไต และ ยีนเกิดการหลายพันธุที่มาจากพฤติกรรมจากการใช้ชีวิตและปัจจัย มาจากสิ่งแวดล้อม 90-95%
 
นอกจากนี้ การเกิดมะเร็งเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ทำให้เกิดมะเร็งตับ ไวรัสเอชพีวี ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งต่อน้ำเหลือง
 
สารก่อมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ รวมทั้งได้รับควันบุหรี่ โดยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่า 8 ล้านคนต่อปี บุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพะปัสสาวะ การดื่มสุรา ทำให้เกิดโรคมากกว่า 20%รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับ ศรีษะ ลำคอ หลอดอาหาร สำไส้ใหญ่ และ เต้านม นอกจากนี้ ยังมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ควันไฟ ไอเสียรถยนต์  สารที่ปนเปื้อนในอาหารหมักดอง ทำให้เกิดมะเร็งตับ ปอด อาหาร ทางเดินปัสสาวะ รวมทั้ง มลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร ฝุ่นPM 2.5 ก่อให้เกิดมะเร็งปอด
 
พร้อมกันนี้ ผศ.พญ.จารุวรรณ  แนะนำผู้ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ ไขมันพอกตับ อาจทำให้เกิดมะเร็งตับ ต้องมีการตรวจอุลตราซาวน์ ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ควรทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดโดยใช้วิธีเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ซีที การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ใช้วิธีตรวจแมมโมแกรม และ ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องมีการตรวจคัดกรอง ด้วยวิธีการตรวจอุจจาระหาเลือดแฝง และ ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
 
นอกจากการบรรยายวิชาการแล้ว HIDA รุ่นที่ 2 จัดเวทีเสวนา”แนวทางการดูแลรักษาโรคมะเร็งในสหศาสตร์แผนปัจจุบัน แผนไทย แผนจีน และดุลยภาพบำบัด” พันเอกหญิงผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ดังใจ สุวรรณกิตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ดุลยภาพบำบัด กล่าวว่า ดุลยภาพบำบัดมองแนวทางการเกิดโรคมะเร็ง มีหลายสาเหตุ เช่น กระบวนการเกิดการอักเสบ การติดเชื้อ การกลายพันธุ์ของเซลล์ ใช้หลักการวินิจฉัยร่วมรักษาเช่น ซักประวัติหาปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ความสมดุลของโครงสร้างร่างกายกระดูก กล้ามเนื้อ หลอดเลือด ระบบประสาท เพื่อลดการเกิดโรคมะเร็งซ้ำ การกินอาหาร เช่น ต้องดูถึงแหล่งที่มาของอาหาร ต้องทานอาหารให้มีความหลากหลาย เพื่อลดสภาวะการสะสม  สารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย การออกกำลังกาย การกำหนดภาวะอารมณ์กำหนดสมาธิ เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารดีๆในร่างกายออกมา และ สภาวะแวดล้อม เช่น อากาศ
 
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งของดุลยภาพบำบัด ลดผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การผ่าตัด ลดพังผืดบริเวณที่ผ่าตัด เช่น ผ่าตัดหน้าอก ผ่าตัดช่องท้อง / การได้รับเคมีบำบัด คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร เม็ดเลือดขาวต่ำ / การฉายรังสี พังผืด หรือ การทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ และ มะเร็งระยะลุกลาม อาการปวดรุนแรงจากมะเร็งเข้ากระดูก
 
ในมุมของศาสตร์แพทย์แผนจีน อาจารย์มุกดา โทแสง หัวหน้าสาขาวิชาการแพทย์แผนจีน วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า มะเร็งเกิดจากพื้นฐานของร่างกายอ่อนแอ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ กินไม่ถูกสุขลักษณะ ทำลายระบบย่อยอาหาร ภาวะอารมณ์มากเกินไปเกิดบ่อยๆซ้ำๆ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคภายใน และ เชื้อโรคสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายของเสียออกมาได้ ทำให้เกิดมะเร็งลุกลามได้
 
แนวทางการดูแลรักษาโรคมะเร็งของแพทย์แผนจีน ใช้สมุนไพรจีนเดี่ยวหรือตำรับ เอามาสกัดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ใช้รักษาควบคู่กับเคมีบำบัด ใช้การฝังเข็ม นอกจากนี้ เสริมพลังงานเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขับของเสียในร่างกายรักษาระบบย่อยปรับกลไก และปรับระบบย่อยในร่างกายให้เกิดสมดุล ทำให้เลือดลมมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึง การเลือกใช้สมุนไพร ต้องรู้ถึงแหล่งที่มาของสมุนไพรอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับระบบในร่างกาย

ทางด้านแพทย์แผนไทย ผศ.ดร.ศุภะลักษณ์ ฟักคำ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า  แนวทางการดูแลรักษาโรคมะเร็งของแพทย์แผนไทยนั้นใช้การรักษาความสมดุลให้ร่างกาย ฟื้นฟูอวัยวะที่เกิดเป็นมะเร็ง ดูแลเรื่องระบบทางเดินอาหาร ธรรมชาติบำบัด  เนื่องจาก ส่วนใหญ่คนไข้มะเร็งที่มาใช้แพทย์แผนไทยจะเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทั้งนี้ แพทย์แผนไทยใช้หลักการรักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็งในแต่ระยะใช้ตัวยาที่ต่างกัน เน้นใช้อาหารเป็นยา งดอาหารต้องห้าม เช่น  ปลาไม่มีเกล็ด ของหมักดอง อาหารทะเลบางชนิด ปรับสภาวะทางอารมณ์ เช่น การทำสมาธิ โดยแพทย์แผนไทยได้ใช้ยาตำรับเบญจอำมฤทธิ์ ที่ได้รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับยาแผนปัจจุบันเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.