บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ประเทศไทยเพิ่งประกาศสงครามยาเสพติด (Drug War) เป็นมหากาพย์ภาคสองในปี 2565 ที่ต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก โคลอมเบีย เขาได้ทำมาตลอดนานร่วม 30 ปี ฟิลิปปินส์เริ่มภาคสองปี 2559 สำหรับสงครามยาเสพติดไทยภาคแรก ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่ามันได้เริ่มมาแล้วเมื่อราว 20 ปีก่อนในปี 2544-2546 และประกาศทางการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 มีการระดมบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อปท.ทุกแห่งดำเนินการอย่างหนัก มีการกวาดล้างและฟื้นฟูผู้เสพตลอดถึงปี 2549 คือในช่วงรัฐบาลทักษิณ

การแก้ไขปัญหายาเสพติด เหมือนวัวหายล้อมคอก ที่ต้องยอมรับว่า ต้องแก้ไขรีบด่วนคือ ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสังคมที่แท้จริง เพราะตอนนี้ยาเสพติดมีเยอะจนราคาถูก หาได้ง่ายมาก จนไม่รู้ปราบกันอย่างไรดี หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมเด็กเล็กด้วยการกราดยิงและฟันอย่างเลือดเย็นจากผู้ที่มีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ ศพด.อบต. อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภูเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ราชการได้ตระหนักถึงปัญหาพิษภัยของยาเสพติด ลองมาร่ายยาวถอดบทเรียนภาคสองกัน อย่างน้อยอาจเป็นข้อมูลทบทวนแก่บุคลากรเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น คือ เทศบาล อบต.

(1) กระทรวงมหาดไทยแจ้งเวียนทุกจังหวัด หนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 7523 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ อปท. ด้วยหวัง อำเภอ สสจ. รพ.สต. มอบประสานให้ใช้งบประมาณ อปท. (เทศบาล อบต.) ที่อาจมีปัญหาทางปฏิบัติว่า ขอบข่ายการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดของ อปท.ที่มีกอง/ฝ่ายสาธารณสุขแล้ว เจ้าภาพงานยาเสพติดของ อปท.ก็ต้องเป็นงานรับผิดชอบแบบบูรณการร่วมกันของส่วนราชการ (กอง/ฝ่าย) เช่น งานป้องกันฯ งานสวัสดิการสังคม งานสาธารณสุข เป็นต้น

สาระสำคัญหนังสือสั่งการให้ใช้งบตามข้อบัญญัติงบประมาณ โดยไม่ต้องมีในแผน หากไม่มีงบประมาณให้โอนตั้งรายการใหม่ หากงบยังไม่เข้าก็ให้ใช้เงินสะสม และหากทำไม่ได้ ก็ให้อุดหนุนงบหน่วยงานอื่น และให้ อปท.รายงานผลวันที่ 21 ตุลาคม 2565 เห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้งบประมาณโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงมาขอใช้งบประมาณจากท้องถิ่นได้ ใช่ว่าแต่ละท้องถิ่นจะมีงบมากมาก เพราะหลาย อปท.มีขนาดเล็ก

(2) แน่นอนว่าในพื้นที่ท้องถิ่นต้องเป็นหลัก เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ตามแนวคิด “ราชการรวมศูนย์” และให้ อปท.จัดตั้งศูนย์คัดกรองและลดความรุนแรงของการติดยาเสพติด ทั้งๆ ที่ อปท. ศูนย์ต่างๆ มากมาย จนสับสนไปหมด เพราะเจ้าหน้าที่สวมหมวกหลายใบ ส่วนกลางมอบภารกิจให้แต่งาน แต่เงินไม่ให้ แล้วการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

(3) มองในภาพรวมในระดับรัฐบาลว่าได้มีแนวขับเคลื่อนนโยบายอย่างไร แรกสุดที่เห็นคือการกวาดล้างของตำรวจ และการสั่งการเข้มงวดของกระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่การเริ่มปูพรมกวาดล้างยาเสพติดและอาวุธปืน

(4) มีข้อพิจารณาว่าการนำเด็กเยาวชนเข้าค่ายอบรมในค่ายทหารเหมือนภาคแรกอีกน่าจะเสียเปล่าเพราะใช้งบไปมากมาย ทั้งค่าวิทยากร ค่าผู้รับการบำบัด ช่วงนั้น อปท.ให้งบอำเภออบรม 10 วันหัวละ 7,000 บาท

(5) การนำผู้เสพเข้าค่ายอบรมเหมือนเอางบมาละลายเล่น นอกจากนี้ มาตรการจับแล้วปล่อย แล้วจับ ก็มีแต่กลุ่มหน้าเก่าซ้ำซากวนลูปเดิม คนกลุ่มนี้ที่ไปทำงานบริการสังคมใน อปท. ก็หลอนก้าวร้าวอันตรายมาท้าต่อยตีกับเจ้าหน้าที่ การนำคนติดยามารวมกันยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้เพิ่มเครือข่ายใหญ่ขึ้น มีทักษะประสบการณ์มากขึ้น การนำตัวมาอบรมรวมกันจึงเหมือนนัดเอเย่นต์ให้มาเจอกัน ในสงครามภาคแรกสถิติผู้เสพวนกลับมาใหม่จึงสูง

(6) ช่วงปี 2545​-2548 มียาเสพติดมาก เด็กเยาวชนผู้เสพมากส่งตัวไปอบรมที่ รร.วิวัฒน์พลเมือง​ ฝึกแบบทหารเกณฑ์ก็ไม่ได้ประโยชน์ใด มีการถามเด็กที่มาบำบัด​ว่า หลังจากบำบัดแล้วจะไปทำอะไร เด็กตอบว่า ค้ายา

(7) ในส่วนความร้ายแรงของยาเสพติด เคยมีผู้สัมภาษณ์เด็กในคุก เกี่ยวกับเรื่องการเสพยาบ้าและเฮโรอีน เด็กแจ้งว่าอยากเลิกแต่มันเลิกไม่ได้ไม่รู้จะทำยังไงมันมีความอยากยาเสพติดอย่างมาก มันอยู่ที่ใจเท่านั้น ถ้าใจไม่อยากเลิกมันก็เลิกไม่ได้ เพราะมันคือยาเสพติดที่เลิกไม่ได้ ยกเว้นพวกกัญชากระท่อมเสพได้บ่อยไม่ติด แต่ถ้าเป็นพวกยาบ้าเฮโรอีนยาเคเสพเพียงแค่ครั้งเดียวยังไงก็ติด ติดในที่นี้คือไม่สามารถเลิกได้อยู่ที่ใจเท่านั้น ถ้าใจไม่แข็งพอก็เลิกไม่ได้ คนติดยาจะเหมือนคล้ายคนติดเหล้า ติดบุหรี่ ไม่มีใครบอกให้เลิกได้ เป็นเรื่องของจิตใจนอกจากจะบอกตัวเอง แม้รู้ว่ามันไม่ดีแต่ก็ยังดื่มยังสูบ พอไม่ดื่มก็บอกไม่เข้าสังคม ไม่เข้าเจ้าเข้านาย อ้างประโยชน์กันตรงนั้น แต่ยาเสพติดจะอ้างเหตุผลเสพแบบเหล้าบุหรี่ไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน จะเหมือนกันก็เฉพาะ “อาการติดยา” ที่เลิกยาก เลิกไม่ได้ง่ายดั่งใจ

(8) ปัจจุบันมีประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2565 ให้ถือว่า ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัด มิใช่การส่งตัวเข้าอบรมเหมือนแต่ก่อน

(9) การแก้ปัญหายาเสพติดแบบเดิมๆ ยังคิดทำงานตามสูตรเดิมๆ เพื่อเอาผลงานเอารายงานว่า อปท.ทุกแห่งได้มีกิจกรรม/โครงการแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เพียงแค่รายงาน ว่าได้ดำเนินการเสร็จแล้ว ใช้งบแล้ว แต่การประเมินประสิทธิภาพผลสำเร็จหามีไม่ เหมือนโครงการที่ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 คนจนจะหมดไป

(10) งานการปราบปรามเช่นนี้ต้องอาศัยตำรวจ อปท.ปราบไม่ได้ เพราะ อปท.มีแต่พระคุณ ไม่มีพระเดช ไม่มีหน้าที่ปราบ มีเพียงหน้าที่ใน “การพัฒนา” คราวสงครามภาคแรก ทั้งคน อปท.ชาวบ้าน คนในชุมชน กรรมการชุมชน และ อสม.จะไม่กล้ารายงานชื่อผู้เสพ เพราะเป็นลูกหลานทั้งนั้น และกลัวอิทธิพลผู้ค้ายาที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เชื่อว่าเป็นผู้มีอิทธิพล หากเอางานปราบมาลงท้องถิ่น มันจึงไม่อาจปฏิบัติได้

(11) เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน อปท.ที่มิใช่ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจไปยุ่งมาก อันตรายต่อชีวิต หน่วยงานตำรวจต้องเป็นแกนนำหลักจัดตั้งศูนย์ประสานข้อมูลจากชุมชนตรงไป อปท.ฝ่ายพลเรือนทำได้เพียงการอุทิศตัวช่วย

(12) ในอนาคตหากยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ควรให้ทหารรับผู้เสพไปดำเนินฝึกวินัยร่วมกับสถานบำบัดฯ จะลดค่าใช้จ่ายประเทศลง ระยะเวลาการฝึกขึ้นกับผู้เสพแต่ละคน จนกว่าผู้เสพจะปกติ ตามกฎหมายยาเสพติดใหม่

(13) สถานการณ์ปัจจุบันตามข่าวพบว่า ยังมีผู้เสพหลอน เดินเพ่นพ่าน ให้ชาวบ้านหวาดกลัว เมื่อมีปัญหา ตำรวจจับก็ต้องปล่อย มีข่าวจากอาการหลอนยานี้ถึงขนาดฆ่าทำร้ายพ่อแม่ญาติบ่อยๆ

(14) การตั้ง “ศูนย์คัดกรองศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติด” หากให้ท้องถิ่นต้องจัดตั้งจริง คือ จำเป็นและปฏิเสธไม่ได้ ควรต้องทำเป็นคำสั่งดึงเอาภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะทำงานเชิง “บูรณาการ” ทุกภาคส่วน เช่น จังหวัด อำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.หรือ รพ.สต. อสม. เอกชน จิตอาสา องค์กร NGO มาร่วมกันทำงานแบบบุรณาการ แม้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีบทบัญญัติห้ามข้าราชการตำรวจไปทำงานหรือช่วยราชการส่วนราชการอื่น ก็ต้องมีกฎหมายพิเศษมาบังคับรองรับด้วย

(15) โครงสร้างศูนย์ฯ ควรรอหารือการสั่งการ การตกลงที่ชัดเจน ที่จริงช่วงแรกต้องเป็นหน้าที่เต็มของฝ่ายตำรวจ เพียงแต่หนังสือสั่งการ มท.อาจถูกอ้างเพื่อการของบ อปท. ไปดำเนินการ เพราะการบูรณาการต้องใช้หลายหน่วยงาน ซึ่งท้องถิ่นไปสั่งการหน่วยอื่นไม่ได้ อาจล้อนำแนวทางการบริหารจัดการแบบโรคโควิด-19 ที่ไล่เลียงลำดับการบังคับบัญชามาจากรัฐบาล กระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะหากมอบเบ็ดเสร็จให้ท้องถิ่นดำเนินการหมดทุกอย่างจะเป็นภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น แม้ว่างานสุดท้ายจะจบลงที่ท้องถิ่น

(16) ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกาศทำสงครามยาเสพติด กวาดล้างยาเสพติด อาวุธปืน แต่กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศเรื่องกัญชาเสรี (ปลดล็อกยาเสพติด) ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่สวนทางกัน นั่นคือหน่วยงานดังกล่าวใน 2 กระทรวงกำลังมีปฏิบัติการทำสงครามยาเสพติดที่ดูจะแย้งกันและกัน ฝ่ายต้านกัญชาเสนอให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นอกจากนี้กฎหมายกัญชาก็ยังไม่สามารถผ่านสภาเพื่อบังคับใช้ในการควบคุมได้ เป็นต้น

(17) ปัญหายาเสพติดอาจแก้ยากหากผู้นำท้องที่/ท้องถิ่นและคนในครอบครัวไปยุ่งเกี่ยวข้องเสียเอง จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือ และผู้บังคับบัญชาก็ไม่เข้มงวดเอาจริง รวมถึงฝ่ายตำรวจในพื้นที่ด้วยที่เกี่ยวพันกันไปหมด

(18) ยืนยันว่าเรื่องยาเสพติดนี้เป็น “จิตสำนึก” ล้วนๆ แล้วยังจะเสรีกัญชากับกระท่อมอ้างเพื่อการแพทย์อีก

(19) หากแผนและการปฏิบัติไม่ชัดเจน งบประมาณอาจไม่คุ้มค่า เสียดายงบประมาณที่สูญเสียไปละลายเล่น เพียงได้ตัวเลขรายงานผลแบบเท็จๆ ปั่นจำนวนตัวเลขให้สวยๆ เหมือนการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการคนจน

(20) ปัจจุบันกัญชายังไม่มีกฎหมายควบคุม กัญชายังไม่สามารถตราได้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง (95 มาตรา) วาระที่หนึ่งถูกล้มไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ต้องนับหนึ่งใหม่ เลื่อนมาครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 และเพิ่งผ่านวาระที่สองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 เปิดการประชุมสภาฯนัดแรกของปี 66 ก็ล่มทันทีในการพิจารณากฎหมายวาระกัญชา แม้ว่าประธานในที่ประชุมจะพยายามยื้อเพื่อให้ส.ส.ครบองค์ประชุม แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างนี้กฎหมายกัญชาคงต้องรอรัฐบาลใหม่ รัฐบาลชุดนี้คงผ่านยาก การพิจารณาร่างรายมาตราล่าช้ามาก เพราะครบวาระ รัฐบาลเสียงแตกขัดแย้งกันเอง เป็นเรื่องหวังธุรกิจของนายทุน ฝ่ายการเมืองใช้หาเสียงเอาดีใส่ตัว มิใช่เพื่อประโยชน์ชาวบ้านรากหญ้า การใช้ยาเสพติดจึงต้องแยกให้ชัดเจนว่าจะใช้เพื่ออะไร มีข้อยกเว้นอย่างไร มีการควบคุมที่ดี แต่จะเสรีทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แม้ประเทศที่กัญชาเสรี 2 ประเทศคือ อุรกวัย และแคนาดา ที่ให้เสรีด้านสันทนาการ ก็ยังมีข้อยกเว้นและมีการควบคุม

(21) การรวมศูนย์อำนาจ ที่ผู้บริหารผู้นำองค์กรมัวแต่คิดโครงการแปลกๆ เอาหน้า สร้างภาพ สร้างอีเว้นต์ หลอกใช้งานท้องถิ่น เป็นเจ้าพ่อจอมโปรเจกต์ (เจ้าพ่อ PR) ที่คอยแต่สั่งการ อปท.อย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าสั่งไปแล้วได้ผลเพียงใดหรือไม่ เพราะยังไม่มีการประเมินผล แม้แต่งานบางอย่างผู้มีอำนาจเต็มก็ยังแก้ปัญหาทำกันไม่ได้ ภารกิจงานที่รวมศูนย์ฯ เพราะอยู่ห่างไกล จึงไม่เกิดผล คนสั่งไม่รู้สภาพปัญหาที่เป็นจริง ถึงรู้ก็รู้ไม่จริง นี่คือปัญหาของ “ระบบราชการรวมศูนย์” หาก อปท.จะทำงานที่ส่วนราชการได้มอบหมาย ก็ต้องมีงบเงินมาให้ด้วย มิใช่เพียงสั่งการมาแต่ปากและหนังสือ เช่น ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537

(22) การแก้ปัญหายาเสพติด อปท.ไม่จำเป็นต้องทำตามวิธีในหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ที่คิดให้ ตามข้อ (1) และไม่ต้องรายงาน มท. แต่ อปท.ต้องรายงานต่อประชาชนในพื้นที่ การสั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจจึงเป็นการก้าวก่ายดุลพินิจในเชิงบริหารของนายก อปท. เพราะเรื่องการจัดการบริการสาธารณะนั้น นายกท้องถิ่นทั่วประเทศต้องไปคิดเองว่า อปท.จะออกแบบการแก้ปัญหาในเขตท้องถิ่นของแต่ละแห่งว่าควรทำวิธีใด แบบใด ทำอย่างไร ไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์ตามวิธีที่ส่วนกลางคิดให้ก็ได้

(23) ปัญหายาเสพติด เห็นด้วยว่า เป็นภารกิจที่ อปท.ควรเข้าไปดำเนินการ แต่ตามหนังสือสั่งการ มท.ดังกล่าว คิดให้โดยเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) โดยการสั่งให้ตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมา 2-3 ศูนย์ เช่นเดียวกับที่สั่งการเรื่องการตั้งศูนย์แก้จนให้คนจนหมดประเทศ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

(24) ข่าวทุนจีนสีเทาพัวพันยาเสพติด เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.และตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) ต้องใช้กฎหมายยาเสพติดยึดทรัพย์ และต้องใช้กฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการตรวจสอบทรัพย์สินตามมูลค่า ที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 84

การบังคับใช้ระเบียบกฎหมายเกี่ยวข้องยาเสพติด

ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ มากมาย บางเรื่องมีเป็นร้อยฉบับ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดมีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องมากมายเช่นกัน ในรอบปีที่ผ่านมานอกจากประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา มีระเบียบปฏิบัติที่น่าสนใจ ได้แก่ ระเบียบคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ว่าด้วยการควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับศูนย์คัดกรองสถานพยาบาลยาเสพติด และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ค่าตอบแทนแจ้งความนำจับยาเสพติดสามารถรับสูงสุด 50% ของมูลค่ายาเสพติด

นอกจากนี้ ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (สสอ.) ในฐานะฝ่ายกฎหมายของฝ่ายปกครองในการดำเนินการสงครามยาเสพติด ได้รวบรวมระเบียบกฎหมายยาเสพติด แบบพิมพ์ บย., แบบพิมพ์ ฟ., แนวทางการจับกุม การตรวจ และการส่งบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ในอำนาจหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครอง เพื่อสนับสนุนกระทรวงมหาดไทยในการทำสงครามกับยาเสพติด และเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่/บุคลาการฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่นับรวมฝ่ายทหาร

โดยภาพรวมหลังจากข่าวกราดยิงที่อำเภอหนองบัวลำภูเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับยาเสพติด และอาวุธปืน ได้ออกปฏิบัติการต่อกลุ่มมิจฉาชีพ อบายมุข มากขึ้น เพราะปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ มากมาย มีการกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติด กลุ่ม(กองกำลัง)ขบวนการขนยาเสพติด ยาบ้า ยาไอช์ ตามแนวชายแดน ยึดยาบ้า แฮปปี้วอเตอร์ และอายัดทรัพย์สิน บัญชีเงินได้มากมาย ตำรวจปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรรม ยึดอาวุธปืนเถื่อนได้มากมาย ประกอบกับการดำเนินการข่าวทุนจีนสีเทาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งการฟอกเงินด้วย

แน่นอนว่าปฏิบัติการสงครามยาเสพติดภาคสองได้เริ่มดำเนินการแล้ว ว่าจะสามารถลดคำปรามาสต่างๆ จากสังคมได้มากน้อยเพียงใด เพราะยาเสพติดกับสังคมไทยมันลูบหน้าปะจมูก เป็นสินค้าใต้ดินที่อยู่ในสังคมมานาน ในหลายเรื่องถือเป็นสิ่งปกติ เช่น ยาบ้าราคาถูก ในหลายๆ พื้นที่มีการจำหน่ายเป็นปกติ ขาดการบังคับใช้กฎหมาย เป็นโจทย์ที่ใหญ่มากสำหรับท้องถิ่น นอกจากนี้ กฎหมายยาเสพติดปัจจุบันถือว่าผู้เสพคือผู้ป่วย ทำให้มาตรการลงโทษผู้เสพอย่างเฉียบขาดไม่มี และทำให้ผู้ค้า ผู้ผลิตได้ใจ เพราะโอกาสที่จะถูกจับกุมมีน้อย เพราะฝ่ายรัฐมุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หวังว่าการดำเนินการนี้คงมิใช่การปาหี่ สักแต่ว่าทำตามกระแส และยิ่งใกล้การเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 แล้ว ฝ่ายอำนาจรัฐน่าจะได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้งมากกว่าฝ่ายอื่น การช่วงชิงมวลชนด้วยนโยบายสาธารณะเช่นนี้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่นอกเหนือ “การหาเสียงจากประชานิยม” เพียงด้านเดียว ท่านเข้าใจหรือยังท่านนักการเมือง