คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
ในอดีตที่ผ่านมาวิวัฒนาการพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นระหว่างการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญเมื่อปีค.ศ. 1787 ภายใต้การนำของ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน” ผู้ที่สนับสนุนให้รัฐบาลกลางมีความเข้มแข็ง (Federalists) และมีระบบการเงินที่เป็นอิสระและยังสนับสนุนให้มีกองทัพเป็นของส่วนกลางได้
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนำโดย “รัฐมนตรีฯต่างประเทศโธมัส เจฟเฟอร์สัน”ผู้ที่เห็นตรงกันข้าม โดยเรียกกลุ่มของตนเองว่า “กลุ่มสาธารณรัฐ” สนับสนุนในเรื่องสิทธิของแต่ละรัฐ และยังให้ความเห็นว่าบทบาทของรัฐบาลกลางควรมีแบบจำกัด!!!
และดูเหมือนว่าการขัดแย้งระหว่างสองขั้วนี้ได้ดำเนินติดต่อกันไปตลอดในช่วงต้นศตวรรษ 1800 แต่พอมาถึงช่วงที่ “แอนดรูว์ แจ็กสัน” วีรบุรุษ (ที่ดำรงตำแหน่งนายพลและเอาชนะสงครามกับอังกฤษเมื่อปี 1812) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปีค.ศ. 1829-1937 และได้กลายเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่น เนื่องจากยึดอุดมการณ์ชูธงให้รัฐบาลกลางต้องมีความเข้มแข็งและเป็นที่ชื่นชมของคนธรรมดาทั่วๆไป จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยุคแห่งสามัญชน” (The Age of Common Man)
นับได้ว่าประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน คือผู้ที่ริเริ่มก่อตั้ง “พรรคเดโมแครต” ขึ้นมาโดยปริยายโดยใช้ลาเป็นสัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครตตามภาพการ์ตูนของโทมาส แนสต์ซึ่งถือว่าเป็นบิดาของนักเขียนการ์ตูนการเมือง สมัยนั้น
อนึ่งในอดีตที่ผ่านมาปฏิกิริยาต่อต้านการเป็นทาสของพรรคเดโมแครต จึงเกิดให้มีการก่อตั้ง “พรรครีพับลิกัน” ขึ้นในปีค.ศ. 1854 โดยมีภาพช้างถูกนำเป็นสัญลักษณ์ของพรรครีพับลิกันตามภาพการ์ตูนของโทมาส แนสต์เช่นกัน
โดยตั้งแต่ปีค.ศ. 1870 เรื่อยไปจนถึงปีค.ศ. 1890 ซึ่งถือเป็นยุคทองของพรรครีพับลิกันที่ประธานาธิบดีทุกๆคนในพรรคนี้ ให้การสนับสนุนอภิสิทธิ์ชนผู้ดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่
และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาสหรัฐอเมริกาก็บังเกิดพรรคการเมืองใหญ่ระดับประเทศขึ้นมาสองพรรคนั่นก็คือ พรรครีพับลิกัน และ พรรคเดโมแครต
อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนคนอเมริกันที่ไม่ค่อยพอใจกับสองพรรคยักษ์ใหญ่นี้ จึงได้พากันก่อตั้งพรรคเล็กๆขึ้นมาอาทิเช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม พรรคกรรมกร พรรครัฐธรรมนูญ พรรคประชาชน พรรคก้าวหน้า พรรคอิสระ พรรคสันติภาพ เป็นต้น
แต่ดูเหมือนว่าพรรคเล็กๆเหล่านี้จะไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯมากเท่าใดนัก เพราะเป็นพรรคที่ไม่ค่อยมีผู้ศรัทธาบริจาคเงินเข้าไปในพรรคของพวกเขา ดังนั้นงบประมาณที่จะนำไปใช้จ่ายในการหาเสียงจึงไม่มีศักยภาพเพียงพอ!!!
และตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา รัฐที่นิยมพรรครีพับลิกันถูกกำหนดให้รัฐเหล่านั้นเป็นสีแดงและกำหนดให้รัฐที่นิยมชมชอบพรรคเดโมแครตเป็นสีน้ำเงิน
จากข้อมูลของสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ระดับหนึ่งในสามของสื่อสหรัฐอเมริกาช่องเอ็นบีซี นิวส์ ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเอาไว้เมื่อปีค.ศ. 2021 เปิดเผยออกมาว่า มีคนอเมริกันผู้ที่นิยมชมชอบในค่ายพรรครีพับลิกันอยู่ที่ 37% ส่วนพรรคเดโมแครตมีอยู่ที่ 42% และยังมีผู้ที่ไม่นิยมชมชอบทั้งสองพรรคนี้ ซึ่งถือเป็นผู้มีความอิสระไม่สังกัดต่อพรรคหนึ่งพรรคใดมีอยู่ที่ 12%
ส่วนนโยบายระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน!!!
โดยนโยบายของพรรคเดโมแครตต้องการที่จะให้รัฐบาลกลางเข้าไปมีบทบาทหลักด้านการให้สวัสดิการต่อประชาชนในวงกว้าง ต้องการที่จะให้ประชาชนมีโอกาสและมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน
นอกจากนั้นแล้วพรรคเดโมแครตยังคำนึงถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สนับสนุนช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำ
แต่ในทางกลับกันตรงข้ามนโยบายของพรรครีพับลิกันสนับสนุนให้รัฐบาลกลางเข้าไปมีบทบาทต่อสวัสดิการของประชาชนค่อนข้างน้อย โดยอ้างว่า “การที่รัฐบาลกลางเข้าไปมีบทบาทต่อประชาชนมากเกินไป เป็นการเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เป็นการสิ้นเปลือง และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ”
โดยส่วนใหญ่แล้วจะเห็นได้ว่าพรรครีพับลิกันสนับสนุนการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหาร แต่พรรคเดโมแครตค่อนข้างที่จะลังเลในการเพิ่มงบประมาณทหาร และพรรคเดโมแครตยังประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการควบคุมการครอบครองอาวุธปืนอย่างเคร่งครัด แต่พรรครีพับลิกันกลับสนับสนุนในการครอบครองอาวุธปืน สืบเนื่องมาจากต้องการที่จะเอื้ออำนวยให้ผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการค้าอาวุธปืนนั่นเอง
สำหรับด้านภาษีนั้น ดูเหมือนว่าพรรคเดโมแครตสนับสนุนให้ผู้ที่มีรายได้สูงต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเพื่อนำรายได้จากการได้รับภาษีของรัฐมาช่วยเหลือต่อผู้ที่มีรายได้ต่ำ ตรงกันข้ามกับพรรครีพับลิกันที่ต้องการจะลดภาษีอำนวยผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวย และยังปรากฏอีกด้วยว่า เป็นการเปิดช่องโหว่ให้แก่วงการธุรกิจยักษ์มีช่องทางหลีกเลี่ยงภาษี
โดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนเลยว่า พรรคเดโมแครตถูกมองเป็นฝ่ายเสรีนิยม ในขณะที่พรรครีพับลิกันถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม
พรรคเดโมแครตมักจะได้รับความนิยมตามเมืองใหญ่ๆที่มีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นกลุ่มคนผิวสี คนกลุ่มน้อย เช่น นครลอสแอนเจลิส กรุงนิวยอร์ก และรัฐที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา
ตรงข้ามกับพรรครีพับลิกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนั้น จะเป็นที่ที่นิยมชมชอบของชาวชนบท ซึ่งเป็นคนผิวขาว มีหัวอนุรักษ์นิยม มีใครบ้างที่เป็นประธานาธิบดีคนสำคัญๆของพรรคเดโมแครต
“ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี.รูสเวลล์” มาจากครอบครัวที่มีฐานะมั่งคั่ง โดยได้รับเลือกติดต่อให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันถึงสี่สมัย (ระหว่างปี 1933-1945) และเสียชีวิตขณะที่ท่านดำรงอยู่ในตำแหน่ง โดยท่านได้สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงเอาไว้อย่างมากมาย ในอดีตขณะที่สหรัฐฯยังอยู่ช่วงเวลาที่วุ่นวายเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยครั้งนั้นประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี.รูสเวลล์ มีความคิดที่กว้างไกลใช้ความสัมพันธ์ที่ยืดหยุ่นสามารถจับมือร่วมกับ ผู้นำจอมเผด็จการ “โจเซฟ สตาลิน” และ “นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล” ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี.รูสเวลล์ได้ใช้สโลแกนที่ว่า “สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวคือความกลัวตัวเอง” และเขาได้ปฏิรูปสังคมที่มีความยั่งยืนตราบเท่าทุกวันนี้อาทิการสร้างประกันสังคม
ประธานาธิบดีสหรัฐฯของพรรคเดโมแครตที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆก็มีอาทิเช่น “ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี” “ประธานาธิบดีบดีจิมมี คาร์เตอร์” “ประธานาธิบดีบิล คลินตัน” “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา” และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน”
สำหรับประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงในค่ายพรรครีพับลิกัน ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น “ประธานาธิบดีนายพลดไวท์ ไฮเซ็นอาวร์” “ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน” “ประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู.บุช” เป็นต้น
สำหรับด้านความสามัคคีภายในพรรคนั้น ดูเหมือนว่าขณะนี้พรรครีพับลิกันกำลังแตกแยกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย นั่นก็คือ กลุ่มที่เอนเอียงไปให้การสนับสนุนต่อ “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งมีผลทำให้เขาได้รับอิทธิพลเพิ่มสูงมากขึ้น หลังจากที่เขาทั้งผลักทั้งดันทำให้ “ส.ส.เควิน แม็คคาร์ธี” ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนำโดย “วุฒิสมาชิกมิชท์ แม็คคอนเนลล์” ผู้นำวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา
และขณะที่พรรครีพับลิกันไร้ความสามัคคีแตกแยกกันอยู่นั้น กลับปรากฏว่าพรรคเดโมแครตภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีความสามัคคีแน่นแฟ้นผนึกตัวกันอย่างเหนียวแน่น!!!
อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจของศูนย์ Pew Research ศูนย์สำรวจอิสระที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยเอาไว้เมื่อปีค.ศ. 2017 ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตทวีความรุนแรงมากขึ้นถึง 86% ส่วนความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสีมีอยู่ที่ 65% และระหว่างคนรวยกับคนจนก็มีอยู่ที่ 60% ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ณ ทำเนียบขาวนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นเมื่อวิเคราะห์จากภาพโดยรวมแล้ว ขณะนี้ถือได้ว่าพรรครีพับลิกันกำลังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกระทำเหมือนกับกำลังต่อต้านข่มเหงระบอบประชาธิปไตยและอาจจะกลายเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญที่สหรัฐฯเคยเป็นแม่แบบอันดีมาโดยตลอด นับเป็นช่วงที่มืดมนอนธการหาทางออกค่อนข้างยากอย่างที่ไม่มีใครทราบได้เลยว่า ในอนาคตข้างหน้าสหรัฐฯจะเกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นมาเมื่อไหร่และจะร้ายแรงมากน้อยเพียงใดละครับ