วันที่ 19 ม.ค.66 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า...

กลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเข็มกระตุ้น เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด แพทย์ควรให้ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง คือยาแพ็กซ์โลวิดชนิดกิน หรือยาเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด ไม่ควรให้ยาโมลนูพิราเวียร์เพราะโมลนูพิราเวียร์ป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ไม่ดีเท่ายาแพ็กซ์โลวิดหรือเรมเดซิเวียร์

นอกจากนี้คนมีความเสี่ยงสูงมากที่จะป่วยรุนแรง หรือมีโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิดจะคงอยู่ในร่างกาย (persistent) เป็นเวลานานทำให้ป่วยแล้วป่วยอีก ตัวอย่างเช่น คนแก่มากๆ มีโรคประจำตัวหลายๆโรคและไม่เคยได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว หรือเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกำลังรับยาเคมีบำบัด และคนที่ได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว ถ้าเป็นไปได้แนะนำรีบให้ยาต้านไวรัส 2 ขนานคือ แพ็กซ์โลวิดและเรมเดซิเวียร์คู่กัน (dual) เพราะให้ยาตัวใดตัวหนึ่งอาจให้ผลลัพธ์ดีไม่เท่ายา 2 ขนานพร้อมกัน บางคนอาจเสริมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดสำเร็จรูป Evusheld ตั้งแต่ต้น ต้องรีบใช้ Evusheld ให้หมด เพราะในอนาคตเชื้อไวรัสสายพันธุ์ XBB เชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่เข้าไทยเมื่อไหร่ Evusheld จะใช้ป้องกันและรักษาไวรัสสายพันธุ์ XBB ไม่ได้

ผู้หญิงอายุ 69 ปีเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพิ่งได้ยาเคมีบำบัดครั้งแรก ได้รับวัคซีนแอสตร้า 2 เข็ม และไฟเซอร์ 1 เข็ม ปวดเมื่อยตัว มีไข้ต่ำๆ 1 วัน ตรวจ ATK บวก ระดับออกซิเจนปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ

ให้ยาฉีดเรมเดซิเวียร์และยากินแพ็กซ์โลวิดคู่กันนาน 5 วัน และให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld ฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่สะโพก 2 ข้างตั้งแต่วันแรก คนไข้รับยาได้โดยไม่มีผลข้างเคียง นอนในโรงพยาบาล 5 วัน ดีขึ้น เอกซเรย์ปอดก่อนกลับบ้านปกติ ติดตาม 2 สัปดาห์หลังเริ่มติดเชื้อไวรัสโควิด ไม่มีอาการ อนุญาตให้รับเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อไป