วันที่ 19 ม.ค.66 ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจรสำนักการคลัง ว่า สำนักการคลังมีความสำคัญมากกับ กทม. เป็นหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ ในอนาคตต้องเตรียมเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ส่วนที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องทำฐานข้อมูลให้ครบเพื่อการเก็บภาษีได้เต็มจำนวน รวมถึงจัดเก็บภาษีป้าย ต้องเร่งรัดในการดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับสำนักงานเขตด้วย 2.ต้องคิดถึงการเก็บภาษีช่องทางอื่นในอนาคต เช่น ภาษีจากนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเมือง รวมถึงจัดเก็บภาษีผู้ที่สร้างมลภาวะให้กับเมือง ซึ่งได้สั่งการให้สำนักการคลังคิดหาการจัดเก็บภาษีด้านอื่นๆ เพิ่มเติม และพิจารณาว่า ในอนาคตจะจัดเก็บภาษีเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ โดยไม่ให้เดือดร้อนประชาชน รวมถึง การแก้ พ.ร.บ.กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มอำนาจการจัดเก็บภาษี  โดยจะนำเรื่องเข้าสภา กทม.เพื่อพิจารณาต่อไป 3.สำรวจประชากรที่แท้จริง ปัจจุบันมีประชากรที่ลงทะเบียนกับกทม.ประมาณ 5 ล้านคน แต่ยังมีประชากรแฝงซึ่งอาจย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ทะเบียนบ้านอยู่ที่อื่น จึงกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ประชากรแฝงย้ายทะเบียนอย่างถูกต้องมาอยู่ กทม.เพื่อการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่แท้จริงมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า จะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบ ERP (ระบบช่วยวางแผนงบประมาณ คาดการณ์ และรายงานสถานะทางการเงิน รวมถึงกระบวนการขององค์กร ทำให้ผู้บริหารองค์กรสามารถมองเห็นข้อมูลและการดำเนินงานได้ทั้งระบบผ่านแดชบอร์ดแบบเรียลไทม์) ระบบ E-Payment (ระบบที่สามารถโอนเงิน ชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านสมาร์ทโฟน) ระบบ BMA TAX MAP(ระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกทม.) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่ต้องทำในอนาคต

อีกส่วนคือ เงินที่ภาครัฐช่วยจัดเก็บ เช่น เงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีการลด 15% โดยภาครัฐอาจช่วยจ่ายคืนในภายหลัง ซึ่งต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบต่อไปว่า ภาคท้องถิ่นจำเป็นต้องได้เงินส่วนนี้กลับคืนมา รวมถึง ภาษียานพาหนะ(ป้ายวงกลม) ที่ผ่านมากรมขนส่งทางบกเป็นผู้จัดเก็บให้ แต่ยังมีผู้ที่ยังไม่ได้จ่าย ซึ่ง กทม.อาจมีการติดตามรายได้ส่วนนี้กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม กทม.ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพราะในอนาคต กทม.อาจมีรายจ่ายมากขึ้นเพื่อดูแลประชากรอย่างทั่วถึงต่อไป