กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก หวังเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการระบายน้ำทั้งระบบในแนวเหนือ-ใต้ รองรับปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ตอนบน และยังช่วยเสริมศักยภาพการเก็บกักน้ำไว้ในแก้มลิงสำหรับใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง

วันที่ 16 ม.ค.66 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้กรมชลประทานดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จะเป็นการปรับปรุง/ขุดลอกคลอง งานอาคารบังคับน้ำ งานก่อสร้างคลองถนน งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ และงานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลและอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยให้กับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีแผนดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568-2571 ประกอบด้วย

1.งานปรับปรุง/ขุดลอกคลองในแนวเหนือ-ใต้ และอาคารบังคับน้ำ ช่วงตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ถึง คลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร 

2.งานปรับปรุงคลองเดิมระยะทาง 6.16 กิโลเมตร และก่อสร้างคลองถนน (Street Canal) บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 5 ระยะทาง 4.41 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1 (ระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ลงสู่คลองภาษีเจริญ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.00 เมตร ความยาว 6.99 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำรวม 30 ลบ.ม./วินาที 

3.งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด เพื่อระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญลงสู่คลองมหาชัย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.00 เมตร ความยาว 11.71 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที

4.งานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย ความยาว 42.06 กิโลเมตร รวมทั้งปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย ความยาว 19.42 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิง และระบายน้ำออกจากแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยลงสู่ทะเล 

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งหากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนผ่านโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ และยังสามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย รวมทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่ทะเลในพื้นที่ตอนล่างบริเวณชายทะเล และยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย