วันที่ 14 ม.ค.2566 ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก กทม. แห่งที่ 1 เขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะชี้แจง เรื่องสวนเบญจกิติ จากกระแสต้นไม้ตายเมื่อวานนี้ ต้องขอบคุณทหารจิตอาสาที่มาช่วยรดน้ำต้นไม้ โดยติดต่อมาที่สวนเบญจกิติเพื่อขอช่วยรดน้ำต้นไม้ ซึ่ง กทม.ยินดีหากทหารจิตอาสาต้องการเข้ามาช่วยดูแล แต่ทั้งนี้ กทม.มีการดูแลทุกสวนสาธารณะอย่างเต็มที่สม่ำเสมอ เพียงแต่สวนเบญจกิติแตกต่างจากสวนอื่น เนื่องจากถูกออกแบบให้สวนดูแลตัวเองตามธรรมชาติ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบางจุดของสวนมีระบบรดน้ำต้นไม้ทำให้เขียวตลอด และบางจุดถูกออกแบบให้เป็นระบบบำบัดน้ำเสียโดยพืชน้ำ ส่วนบางจุดถูกออกแบบให้เป็นป่าตามธรรมชาติ จึงมีความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลทั้งแล้งและฝน ซึ่งสวนเบญจกิติออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยรัฐบาลให้ทหารช่างเป็นผู้สร้าง ส่วน กทม.เป็นผู้รับมาดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจ้างคนมาดูแลอย่างเต็มที่ภายใต้เนื้อที่ 450 ไร่ แบ่งเป็นการดูแลทั้งการบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ดอกไม้ประดับ สนามหญ้า ทำความสะอาดถนน โดยใช้พนักงานควบคุมงาน 9 คน คนสวน 132 คน พนักงานดูแลห้องน้ำ 16 คน พนักงานขับรถ 2 คน รุกขกร 2 คน เจ้าหน้าที่ตัดแต่งต้นไม้ 14 คน ผ่านการจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมหารือกับผู้ออกแบบสวนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวิธีดูแลรักษาสวน

ทั้งนี้ สวนเบญจกิติเป็นสวนใหม่ มีการออกแบบให้นำน้ำในคลองไผ่สิงโตเข้ามาบำบัดผ่านระบบพืชน้ำ ก่อนทยอยปล่อยไหลไปตามเกาะต่างๆ อาจมีบางจุดที่น้ำรั่ว จึงได้หารือกับทหารในการปรับปรุง ปัจจุบัน ตนเข้าไปตรวจสอบสวนแห่งนี้ทุกเย็น เพื่อหาแนวทางเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้งและอุดรอยรั่วต่างๆ ของสวน พร้อมบูรณาการกับสำนักระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่สวน และบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ตนขอขอบคุณทุกคำติชม ถือเป็นบทเรียน กทม.พยายามทำให้ดีที่สุด ไม่เคยละเลย เพราะสวนถือเป็นสิ่งมีค่าที่สุดของเมือง