ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

เด็ก ๆ เราอาจฝันไว้อย่างหนึ่ง จนถึงวันหนึ่งสิ่งนั้นก็เป็นจริง แต่ไม่ใช่อย่างที่ฝัน

เฮงสวัสดิ์ก็เหมือนกับคนทั้งหลาย ที่ฝันอยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ หรืออยากได้โน่นได้นี่มาตลอดชีวิต หลายคนอาจจะสมหวังบ้าง แต่ส่วนมากมักจะไม่ได้สมดังหวัง หรือไม่เป็นไปอย่างที่ฝัน เฮงสวัสดิ์ก็เช่นกัน

เฮงสวัสดิ์หรือไอ้เฮ้งของเพื่อน ๆ แต่แรกที่มาเข้าเรียนชั้นมัธยมใช้ชื่อว่า “สวัสดิ์” เฉยๆ แต่พอจบมหาวิทยาลัยได้ไปทำงานก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เฮงสวัสดิ์” นัยว่าเป็นการแก้เคล็ดและเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งก็เป็นไปอย่างนั้นจริง ๆ เพราะตั้งแต่เปลี่ยนชื่อ เขาก็ได้ตำแหน่งงานดีขึ้น ได้เจอผู้หญิงที่ได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา มีบ้าน มีที่ดิน มีครอบครัวที่สุขสมบูรณ์ พร้อมกับลูกชายสองคน รวมถึงชื่อเสียงของเขาก็ดีขึ้นตามอายุ และตามตำแหน่งต่าง ๆ ทางสังคมที่เพิ่มขึ้น

เฮ้งเกิดในครอบครัวที่ยากจนมาก ๆ พ่อแม่ของเขาทั้งคู่เป็นลูกคนจีนที่อพยพมาทางเรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่จีนจะถูกคอมมิวนิสต์ยึดครองใน พ.ศ. 2493 พ่อกับแม่มารู้จักกันที่แถวเพิงพักที่ทั้งคู่มาทำงานด้วยกันในสวนผักที่ตลิ่งชัน เมื่อชอบพอกันก็ย้ายมาอยู่ด้วยกัน กระทั่งเกิดพี่ ๆ ของเฮ้ง 5 คน พี่สาว 2 พี่ชาย 3 และเฮ้งเป็นคนที่ 6 สุดท้อง ทั้ง 8 คนอัดกันอยู่ในที่พักที่ใช้ไม้กระดานเก่า ๆ ตอกตะปูเกาะกับกำแพงวัด พาดด้านบนด้วยสังกะสีและผ้าใบเก่า ๆ พอกันแดดและบังฝนได้บ้าง ด้านในมีพื้นที่สักวาครึ่งคูณสองวา พื้นห้องเป็นดิน มีแคร่ไม้ไผ่ยกพื้นขึ้นมาสักศอกหนึ่งต่อกันเป็นแนวยาวจากช่องประตูด้านหน้าไปจนถึงติดกำแพงวัดด้านหลัง ทุกคนจะมาอยู่ข้างในเฉพาะเวลาที่นอนเท่านั้น เวลาอื่นก็จะอยู่ข้างนอกตลอด โดยตรงหน้าบ้านจะมีที่สักครึ่งวา พอได้วางเตาฟืนและหม้อกระทะกับจานชาม ใช้เฉพาะเวลาเตรียมอาหาร เมื่อหุงหาข้าวปลาเสร็จก็ตักแจกกันนั่งกินอยู่รอบ ๆ ทั้งสามมื้อในแต่ละวันนั้น ครอบครัวอื่น ๆ อีก 10 กว่าครอบครัวก็สร้างเพิงพักติดกำแพงนั้นเช่นเดียวกัน ส่วนจะแออัดมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่จำนวนคนในเพิงนั้น ซึ่งเพิงของเฮ้งน่าจะเป็นอีกหลังหนึ่งที่แออัดที่สุด

ปีที่เฮ้งเกิด พี่ชายคนโตและพี่สาวคนรองเรียนจบ ป.7 แล้วทั้งคู่ และได้ไปทำงานโรงงานทำยาหม่องแถวยศเส เพิงพักก็ลดความแออัดลงไปได้บ้าง จนในปีที่เฮ้งต้องเข้าโรงเรียน พ่อแม่ก็ย้ายมาอยู่โบ๊เบ๊เพื่อมาอยู่ใกล้ ๆ พี่ชายกับพี่สาว แม่ได้ทำงานเย็บเสื้อโหล ส่วนพ่อก็เป็นกุลีเข็นรถบรรทุกหีบห่อเสื้อผ้าขึ้นรถบรรทุก ส่วนพี่ ๆ คนอื่น ๆ รวมทั้งตัวของเฮ้งก็กระจายกันเข้าเรียนที่โรงเรียนใกล้ ๆ ย่านนั้น แต่ทุกคนก็ยังรวมกันอยู่อย่างแออัดเช่นเดิม เพียงแต่เพิงพักที่เถ้าแก่สร้างให้ พอที่จะกั้นเป็นส่วน ๆ ได้ 3 ห้อง เป็นห้องพี่สาวคนหนึ่งอยู่ข้างในสุด ห้องของพ่อแม่อยู่ตรงกลาง และห้องของเฮ้งกับพี่ชายอีก 2 คนอยู่ข้างหน้า ในเวลาที่พวกเรากลับจากโรงเรียน แม่ก็จะให้เราไปขนเอาเศษผ้าจากโรงเย็บแถว ๆ นั้นมาถักเป็นพรมเช็ดเท้าและที่รองจานชาม เป็นรายได้เสริม พอที่จะส่งลูกทุกคนให้ได้เรียนสูง ๆ ต่อ ไป โดยลูกทุกคนยกเว้นพี่ชายคนโตกับพี่สาวคนรองที่ได้ทำงานก่อนแล้วนั้นมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเปิดในภายหลัง ส่วนพี่ ๆ อีก 3 คนและตัวเขาเองสามารถสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน โดยเฮ้งได้ปริญญาด้านการบัญชี และได้ทำงานที่บริษัทของครอบครัวคนจีนที่แม่เป็นคนฝากฝังให้นั่นเอง ตอนนี้พ่อกับแม่พอมีฐานะดีขึ้น พ่อไม่ต้องทำงานใช้แรงเป็นกุลีอีกแล้ว แต่ได้คุมคนงานให้กับเถ้าแก่ ส่วนแม่ก็มีลูกจ้างช่วยเย็บเสื้อโหลอีกหลายบ้านเป็นสิบ ๆ คน แต่ก็ยังเช่าห้องแถวอยู่แถวนั้น เพราะใกล้แหล่งผลิตและค้าขายเสื้อผ้า ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปีกว่าที่ลูก ๆ จะขอให้พ่อกับแม่หยุดทำงาน และออกมาอยู่บ้านจัดสรรที่ลูก ๆ รวมเงินกันซื้อให้ โดยมาอยู่กับพี่สาวคนรองที่ได้แต่งงานกับลูกของเถ้าแก่ ซึ่งลูก ๆ ก็แวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียน รวมถึงในเทศกาลทั้งตรุษจีน สงกรานต์ และวันสารทต่าง ๆ ก็ยังได้มารวมกันอย่างอบอุ่นโดยตลอด

ชีวิตของเฮ้งที่เป็นมาข้างต้นนี้อาจจะดูเหมือนเป็นชีวิตทั่ว ๆ ไปของคนจีนที่ปากกัดตีนถีบ หรือต่อสู้ชีวิตมาด้วยความยากลำบาก และมาประสบความสำเร็จในตอนท้าย แบบที่เรียกว่า “แฮปปี้เอนดิ้ง” แต่เมื่อผมมีโอกาสได้คุยกับเขาในวันหนึ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ได้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า บางทีชีวิตที่คนคิดว่าราบรื่นหรือประสบความสำเร็จด้วยดีนั้น แม้จะเป็นความฝันของคนหลาย ๆ คน แต่มันก็อาจะไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการทั้งหมด แบบที่ว่า “คิดอย่างได้อีกอย่าง” ทำนองนั้น

“เฮงสวัสดิ์” หรือที่ผมเรียกว่า “พี่เฮ้ง” เพราะเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนมัธยม แต่ไม่ทันได้เจอกันที่โรงเรียน เพราะพี่เฮ้งจบชั้น ม.ศ. 5 ออกไปก่อน เมื่อจบปริญญาตรีด้านการบัญชีแล้ว แม่ก็ฝากให้ไปทำงานกับเถ้าแก่ของบริษัทส่งออกเสื้อผ้า ที่ตอนนั้นการส่งออกไปยังยุโรปดีมาก เพราะไทยได้สิทธิพิเศษทางการค้า ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในสินค้าหลาย ๆ ประเภท เขาทำอยู่ 10 กว่าปี ก็ออกไปทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทตรวจสอบบัญชีชื่อดัง ซึ่งมาขอ “ซื้อตัว” เขาไปด้วยค่าจ้างที่สูงมาก ซึ่งเขาก็ทำงานที่บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีนี้มาได้เกือบสิบปี ก็พอดีมีผู้ใหญ่ที่เขาเคารพนับถือมาขอให้เขาไปช่วย “กอบกู้” บริษัทด้านตลาดกลางสินค้าการเกษตรที่เจอพิษ “ต้มยำกุ้ง” หรือวิกฤติเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 ซึ่งเขาก็ใช้เวลาปลุกปล้ำอยู่ 4 - 5 ปี กว่าที่จะฟื้นฟูสถานะของบริษัทกลับคืนมาให้ดีได้ดั้งเดิม จากนั้นเขาก็ได้ช่วยทำให้บริษัทนี้ขยายกิจการไปในส่วนภูมิภาคและในตลาดต่างประเทศต่อไป พอดีกับที่เขาอยากจะทำสิ่งหนึ่งตอบแทนให้กับพ่อแม่ รวมถึงตัวเขาด้วย นั่นก็คือ “บ้านสวน” อย่างที่เขาฝันไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ และหวังที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในบั้นปลายที่นี่ เขาจึงขอเกษียณตัวเองออกจากงานมาเมื่อ 10 ปีก่อน และเริ่มลงมือทำความฝันให้เป็นจริง

อย่างที่เขาเล่าให้คนทั้งหลายฟังว่า เขาเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตมาในสวนผักที่ตลิ่งชัน พ่อแม่ของเขาที่อพยพมาจากเมืองจีนก็มาตั้งรกรากที่นั่น ตัวเขาและพี่ ๆ อีก 5 คนก็เกิดและเติบโตมาจากที่นั่น ตั้งแต่ที่เขาจำความได้ เขาก็ได้เห็นแม่กับพ่อก้ม ๆ เงย ๆ ปลูกผัก ดายหญ้า ใส่ปุ๋ย และเก็บผัก อยู่ในสวนตั้งแต่เช้าจดเย็น พี่ ๆ อีก 5 คน ถ้าโตหน่อยก็ช่วยถอนหญ้า เก็บใบไม้และหญ้าไปทิ้ง ส่วนเขาเป็นเด็กเล็กก็ได้แต่คลานไปมาอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น บางทีแม่ก็มัดตัวเขาและเอาใส่เปลไว้เวลาที่เขาซนจนห้ามไม่อยู่ เขาได้กลิ่นน้ำคลองที่ไหลเข้ามาตามลำประโดงที่ดึงน้ำเข้ามาตามร่องสวน แล้วพ่อก็พายเรือล่องไปพร้อมด้วยกาบหมากทำเป็นพวยใส่น้ำขนาดใหญ่ วิดน้ำขึ้นบนร่องผักตลอดร่องสวนนั้น บางทีพ่อก็เอาเขาลงเรือไปด้วย แล้วเก็บผลไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกแซมตามร่องผัก ให้เขากินเล่น ซึ่งเขาชอบกินมะพร้าวมากที่สุด เพราะเมื่อกินน้ำหวาน ๆ สด ๆ จากลูกหมดแล้ว พ่อก็จะเฉาะและคว้านเอาเนื้อให้เขาได้กินอย่างเอร็ดอร่อยอีกด้วย

แม้ว่าเมื่อถึงคราวใส่ปุ๋ยที่กลิ่นพิลึกจนสุดกลั้น แต่เขาก็ไม่ลืมมันได้ เพราะพ่อมีวิธีดับกลิ่นนั้นได้ ทั้งยังได้กินของอร่อยภายหลังจากช่วงเวลาที่พะอืดพะอมสุด ๆ นั้นแล้วอีกด้วย