สยามคูโบต้า จัดโครงการ ‘KUBOTA Farm-Tech Innovator Hackathon 2022 นำนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมแข่งขันประชันไอเดียนวัตกรรม ‘AGRI-TECH’ & ‘FARM-TECH’ สร้างสรรค์นวัตกรรมสุดล้ำที่จะช่วยยกระดับภาคการเกษตรไทย โดยทีมผู้ชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ทีมชนะเลิศ KUBOTA Hackathon 2022

นายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดประกวด KUBOTA Hackathon 2022 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร พร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษานำมาต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยแข่งขันชิงเงินรางวัล รวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งทีมผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โจทย์การแข่งขันในปีนี้คือ “AGRI-TECH & FARM-TECH” การเสาะหาโซลูชัน ใหม่ๆ เพื่อช่วยพัฒนาภาคการเกษตร ตอบโจทย์กับผู้ใช้ไม่เพียงแค่เฉพาะเกษตรกรแต่ยังรวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตร (Non-Farmer) สำหรับกิจกรรมจะเป็นการพาน้องๆ ทีมที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 60 คน ไปลงพื้นที่คูโบต้าฟาร์ม จ.ชลบุรี ให้เรียนรู้วิถีการทำเกษตรยุคใหม่และเทคโนโลยีสุดล้ำจากคูโบต้า พร้อมจัด Workshop เสริมทักษะผู้ประกอบการและเสริมการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงจากพี่ๆ ทางสยามคูโบต้า”

รัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด 

ด้าน นายบุรยกร อุดมสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักศึกษาทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เล่าถึงนวัตกรรมที่ได้ออกแบบว่า “ผลงานของทีมเราคือกล้องวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ที่ใช้ระบบ Image Processing ทำงานคู่กับ ข้อมูล Weather Station สามารถทำการประเมินความอ่อนแก่ของผลทุเรียนได้ โดยทีมเล็งเห็นว่าทุเรียนถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูงแต่พอเข้าไปดูความเสียหายของราคาผลผลิตก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากลูกอ่อนถูกตัดมามากเกินทำให้ขายไม่ได้หรือราคาต่ำ จึงคิดว่าหากเราช่วยลดความเสียหายจากตรงนี้ได้ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่ม ทำให้เกษตรกรสามารถไปบริหารจัดการในส่วนอื่นมากขึ้น”

“นวัตกรรมการวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน มีหลายงานวิจัยที่เผยว่าสามารถทำได้จริง เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ทีมจึงมองเห็นความเป็นไปได้และคิดว่าสามารถต่อยอดได้ อีกทั้งมองว่านวัตกรรมดังกล่าวจะสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมเกษตรไทยได้” นายธรภัทร์ แพงวาป นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักศึกษาทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เล่าเพิ่มเติม

บุรยกร - ธรภัทร์

“สำหรับโครงการดังกล่าวเราได้เห็นถึงความตั้งใจของน้องๆ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่สามารถออกแบบนวัตกรรมด้านการเกษตรขึ้นมาได้อย่างดี ตอบโจทย์กับภาคการเกษตรและสามารถนำไปพัฒนาเป็นธุรกิจใช้ได้จริง เราเชื่อว่านวัตกรรมจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานได้รับประโยชน์จากการทำนวัตกรรม ซึ่งผลงานของน้องๆ ทั้งหมดก็แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่พร้อมตอบโจทย์ภาพเกษตรกรรมไทยและสามารถก้าวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายรัชกฤต กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามสยามคูโบต้าต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพการแข่งขันของตนเอง และพร้อมสร้างประสบการณ์เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยเพื่อคงจุดยืนการเป็น“นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” โดยในปี 2566 นี้ สยามคูโบต้ายังคงจะจัดโครงการ KUBOTA Hackathon 2023 ขึ้น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมที่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ภาคการเกษตรในอนาคต และพร้อมผลักดันเยาวชนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรต่อไป

สามารถติดตามโครงการผ่านทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/SiamKubotaClub หรือผ่านทาง Official line @Siamkubota