ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปเสียหายหนัก แต่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะจากธนาคารนานาชาติเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา(International Bank for Reconstruction and Development) IBRD อันเกิดจากการประชุมที่ Breton Wood  ตามแผนการมาแชลของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาก็กลายสภาพเป็นธนาคารโลก World Bank

เมื่อยุโรปเริ่มฟื้นตัว ก็เริ่มมีแนวคิดภายใต้การนำของชาร์ล เดอโกล ผู้นำของฝรั่งเศส ทำให้ยุโรปเริ่มมีแนวทางที่จะรวมตัวกันและต้องการเป็นอิสระจากสหรัฐฯ

แนวคิดดังกล่าวในระยะต่อมา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การเมือง คือสหภาพยุโรป (EU) และผู้สืบแนวคิดในทำนองนี้ในระยะหลัง คือ อดีตนายกรัฐมนตรี เฮลมุท โคล แห่งสาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก)

ซึ่งตามแนวคิดของเดอโกลนั้น ยุโรปต้องการเป็นปึกแผ่นและเป็นอิสระ โดยที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะผงาดขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจ และมีเงินตราของตนเองต่อมาในระยะหลังก็มีผู้นำคืออดีตนายกฯแองเกลา แมร์เกิล นายกฯหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ภายหลังรวมชาติเป็นแกนนำ

ทว่าสหรัฐฯก็ยังไม่ยอมทิ้งโยงใยกับยุโรปในทางการเมือง และการทหาร โดยทำการจัดตั้งนาโตขึ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้าน หรือป้องกันการรุกรานจากสหภาพโซเวียต อันมีพื้นที่ชายแดนติดกับยุโรปตะวันตก

อย่างไรก็ตามสัมพันธภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างยุโรป และรัสเซีย ในยุคหลังก็เติบโตดีวันดีคืน โดยต่างมีผลประโยชน์ตอบแทนกัน เช่น รัสเซียสามารถขายก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ และธัญพืชให้กับยุโรป ซึ่งทำให้ยุโรปได้พลังงานและวัตถุดิบในราคาถูกมาพัฒนาอุตสาหกรรมของตน โดยเฉพาะเยอรมนี

แต่ครั้นเกิดการสู้รบในยูเครน ยุโรปก็ตัดสินใจดำเนินนโยบายตามสหรัฐฯ นั่นคือการแซงก์ชั่นรัสเซีย เพื่อหวังตัดกำลังไม่ให้รัสเซียทำสงครามได้นาน และโดยลึกๆอาจเห็นพ้องกับสหรัฐฯ ที่จะทำลายรัสเซียด้านเศรษฐกิจ อันเป็นการซ้ำรอยในยุคสหภาพโซเวียต จนทำให้เศรษฐกิจของโซเวียตย่อยยับ และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย แตกออกเป็นประเทศหลายประเทศ

หากครั้งนี้ได้ผลรัสเซียก็จะแตกออกเป็นประเทศเล็กๆและจะถูกตะวันตกเข้าครอบงำตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีมหาศาลในสหพันธรัฐรัสเซีย

อย่างไรก็ตามผลจากการแซงก์ชั่นแทนที่จะมีแรงกระแทกเศรษฐกิจรัสเซีย โดยตรง และรุนแรง กลับมีผลกระทบต่อยุโรปจนยับเยิน เหมือนขุดหลุมฝังศพตัวเอง

ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้ยุโรป ในราคาแพงกว่า 5-10 เท่า ทำให้อุตสาหกรรมของยุโรปต้องพังทลายลง เพราะหมดความได้เปรียบในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ (Competitive Advantage)

โรงงานอุตสาหกรรมที่สายป่านน้อยต้องปิดตัว โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องหยุดงานชั่วคราว หรือผลิตไม่ถึงครึ่งของกำลังการผลิต หลายบริษัทมีแผนย้ายไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งการย้ายไปสหรัฐฯ

ผู้ที่ได้ผลประโยชน์เต็มๆจากการแซงก์ชั่นคือ สหรัฐฯ เพราะนอกจากขายพลังงานได้มากขึ้นในราคาที่สูงแล้ว อุตสาหกรรมผลิตอาวุธยังสามารถเพิ่มยอดขาย ทั้งกับยุโรป และภูมิภาคอื่น ส่วนยูเครนก็มีหลายโครงการที่มีทั้งให้เปล่า เงินกู้ หรือมีเงื่อนไขผูกพัน การเข้าฟื้นฟูยูเครนโดยเงินช่วยเหลือต่างๆของสหรัฐฯและยุโรป

ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐฯยังขาดคู่แข่งขันจากยุโรปลงไปอีก ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินแอร์บัสที่แข่งกับโบอิ้งของสหรัฐฯ และกำลังจะได้ใบสั่งซื้อจากจีนถึง 200 เครื่องในปีหน้า

การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จากการรบในพื้นที่นอกประเทศ เช่น อิรัก ลิเบีย ซีเรีย หรืออัฟกานิสถาน ที่ทำให้สหรัฐฯต้องสูญเสียกำลังพล กลายมาเป็นการรบที่ไม่ต้องสูญเสียกำลังพล แต่ทำเงินได้จำนวนมาก อย่างน้อยๆตั้งแต่การค้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอาวุธยุทโธปกรณ์

และหากจะเกิดสงครามจริงๆทางกายภาพ ยุโรปก็จะกลายเป็นสนามรบ โดยสงครามไม่มีผลกระทบโดยตรงถึงแผ่นดินสหรัฐฯ

การเบนเป้ามาสู่จักรวรรดิชั่วร้าย (Evil Empire) อย่างรัสเซีย จีน และอิหร่าน ตามนิยามของสหรัฐฯทำให้สหรัฐฯได้ประโยชน์และ นักการเมืองได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องสูญเสียทหาร นับเป็นแผนที่ชาญฉลาดมาก ตามที่สหรัฐฯได้มีการปรับปรุง ยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้ใน 10 ปี ข้างหน้า ที่นายลอยด์ ออสติน เรียกว่า “ดาวนำทาง”

ดังนั้นแทนที่สหรัฐฯจะระดมผู้คนที่มีความรู้ความสามารถมาทุ่มเทกับการรบทางกายภาพ สหรัฐฯก็ปล่อยให้มีคนรับภาระแทน เช่น ยูเครน

ส่วนสหรัฐฯก็ระดมผู้เชี่ยวชาญ Think Tank มาคิดแผนการในการใช้สงครามสื่อ สงครามเศรษฐกิจ และสงครามการเมือง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และแผนการนี้ได้วางไว้หลายปีมาแล้ว โดยหัวกะทิทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรป ที่ได้รับทุนรอน ในการสร้างงานวิจัยเพื่อครอบงำความคิดนักการเมือง ประชาชน สื่อต่างๆโดยเน้นถึงภัยคุกคามจากรัสเซียและจีน กับความชั่วร้ายของอิหร่าน ซึ่งถ้าพิจารณาโดยตรง อิหร่านไม่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯเลย นอกจากอาจเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล ของขบวนการไซออนิสต์ ที่ฝังตัวเป็น Deep State ของสหรัฐฯ

สงครามในอนาคตของสหรัฐฯ จึงวางเป้าหมายอยู่ที่สงครามข่าวสาร สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมืองและสงครามเทคโนโลยี

ในขณะที่อุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐฯก็เร่งพัฒนาโดรนมิสไซด์ และระบบอาวุธอื่นๆเพื่อการขยายตลาดหารายได้เพิ่มเติม และมาแบ่งปันกับนักการเมืองที่สนับสนุนแนวทางของตน

สหรัฐฯจึงไม่ต้องการให้สงครามยุติ ยิ่งนานวันก็ยิ่งได้ประโยชน์ และโดยการประเมินตามยุทธศาสตร์ชาติ รัสเซียจะพ่ายแพ้สหรัฐฯในระยะยาว ด้วยปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัสเซียเอง

ส่วนยุโรปนอกจากได้รับภัยจากการร่วมแซงชั่นกับสหรัฐฯ ยังต้องแบกรับปัญหาด้านมนุษยธรรม เช่น การรองรับผู้อพยพกับปัญหาการว่างงาน

คำถามคือแล้วผู้นำของประเทศในยุโรปนั้นทำไมถึงยอมให้มันเป็นไปอย่างนี้

คำตอบอาจไม่ง่ายนัก แต่ก็พอจะวิเคราะห์ได้พอสังเขปดังนี้

1.สหรัฐฯใช้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆขุดสนามเพาะทางความคิดเพื่อสร้างภาพให้รัสเซียและจีนเป็นภัยคุกคาม แผนนี้ดำเนินการมา 8 ปี แล้ว ดังนั้นเมื่อรัสเซีย บุกยูเครนจึงได้รับแรงกระเพื่อมสูงมาก

2.นักการเมืองตะวันตกบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน

3.ข้อมูลข่าวสารและข่าวกรองถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ

4.ผู้นำและนักการเมืองยุโรปบางคนคาดการณ์ว่าหากรวมตัวกันเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นจะได้รับชัยชนะในที่สุด ตามการประเมินของสหรัฐฯและทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซียคืออาหารอันโอชะ

เอวังลงด้วยประการฉะนี้