วันที่ 11 ม.ค.66 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...
โควิด 19 เรื่องของหน้ากากอนามัย
โรคโควิด 19 ครบ 3 ปีแล้ว ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 50 ล้านคน รวมทั้ง ฉีดวัคซีน2 เข็มไปแล้ว ประมาณร้อยละ 80 ฉีด 3 เข็มประมาณร้อยละ 40 ทำให้ประชากรไทยตรวจพบภูมิต้านทานได้ถึงร้อยละ 96
ความรุนแรงของโรคลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดในปีแรก และโรคนี้กำลังเข้าสู่โรคประจำฤดูกาลที่ทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้
เรื่องของการใส่หน้ากากอนามัย อยากจะขอแนะนำดังนี้
1 ในเด็กเล็ก รวมทั้งเด็กอนุบาลและประถม อาจไม่จำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัย ในโรงเรียน เด็กเล็กไม่สามารถที่จะใส่ได้แบบถูกวิธีตลอดเวลา ต้องมีการเรียนรู้ทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทาง สิ่งสำคัญในการป้องกันในโรงเรียน คือการล้างมือที่ถูกต้อง ดูแลสุขอนามัย ความสะอาดและสถานที่ หมั่นทำความสะอาดและให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่สบายหรือป่วย ต้องไม่ไปโรงเรียน
2 เด็กโตหรือผู้ใหญ่ ที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อออกนอกบ้าน
3 ในคนที่สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี เช่น สวนสาธารณะ ท้องถนน ชายทะเล ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัย และต่อไปเมื่อเข้าสู่โรคประจำฤดูกาลเต็มที่แล้ว ก็คงจะเน้น การใส่หน้ากากอนามัยในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเป็นหลัก
4 ในสถานที่ปิดเช่นการเดินทางด้วยรถขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า หรือสถานที่มีคนหมู่มาก ก็ควรใส่หน้ากากอนามัย
5 ในสภาวะปัจจุบัน การใส่หน้ากากอนามัยเป็นไปด้วยความสมัครใจ ทุกคนก็คงจะต้องประเมินความเสี่ยง และความเหมาะสม ในการใส่หน้ากากอนามัย เรากำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ต่อไป โดยก้าวเดินไปตามความเหมาะสม แบบมีเหตุผล