รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกของกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันกทม.กำหนดให้บรรจุแผนที่โรคทั้ง 50 เขต ไว้ในศูนย์ข้อมูล เพื่อประเมินว่าพื้นที่ใดมีจำนวนโรคหรือความเสี่ยงสูงซึ่งพบว่าพื้นที่กลางเมืองเขตพญาไท ราชเทวี มีอัตราป่วยสูง จึงต้องจำแนกว่าป่วยเพราะอะไร เนื่องจากเขตดังกล่าวอาจมีสถานพยาบาลหลายแห่ง จึงมีผู้ป่วยไปใช้บริการจำนวนมากกว่าเขตอื่น ดังนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบพื้นที่กำจัดลูกน้ำยุงลายให้มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ แก่อาสาสมัครใช้ลงพื้นที่กำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยมาตรการดังกล่าวจะนำไปใช้กับทุกบ้านเรือนในพื้นที่ที่พบความเสี่ยง โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นกำลังสำคัญในการนำทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายไปให้ประชาชนในชุมชน พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชน
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า แต่ละพื้นที่อาจมีลักษณะชุมชนต่างกัน เช่น บางพื้นที่มีความเร่งรีบสูง ผู้คนออกจากบ้านแต่เช้า และกลับบ้านในตอนค่ำ ทำให้ระหว่างวันแทบไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตนเอง จึงไม่มีใครดูแลเรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายมากนัก กทม.เองต้องเปลี่ยนแผนดำเนินการสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยกำชับให้หน่วยงานสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พร้อมประสานกับสำนักงานเขตในพื้นที่ที่ประชาชนไม่มีเวลาอยู่ในชุมชนตนเองมากนัก เขตรอบนอกอาจมีพื้นที่สีเขียวมาก หรือมีแนวโน้มที่จะมีน้ำขังกว่าเขตอื่น แต่จากข้อมูลกลับพบว่าไม่ใช่พื้นที่เสียงโรคไข้เลือดออก เนื่องจากลักษณะวิถีชีวิตของประชาชนยังอยู่ติดพื้นที่ ประชาชนจึงมีส่วนร่วมกันดูแลพื้นที่ตนเอง เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อ ซึ่งแตกต่างกับประชาชนพื้นที่กลางเมือง มีวิถีชีวิตต้องออกไปทำงานแต่เช้า กลับค่ำ จึงไม่มีเวลาดูแลอย่างจริงจัง ประกอบกับเวลามีฝนตกน้ำขัง ไม่มีใครคอยสำรวจดูแล จึงทำให้อัตราป่วยสูงกว่าพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่ติดชุมชน