จากเหตุการณ์ที่ จ.ศรีสะเกษ ชายวัย 30 ปี เมาขับรถเก๋งชนรถจักรยานยนต์นักศึกษา จากนั้นรถยนต์เสียหลักพุ่งข้ามเกาะกลางเหินลอยขึ้นไป ตกลงบนหลังคารถเก๋งอีกคัน เสียชีวิตทั้งหมด 5 ศพ เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจกับความสูญเสียทั้งครอบครัวให้กับความประมาทของผู้ดื่มแล้วขับ ตำรวจคาดว่าผู้ก่อเหตุมีอาการมึนเมา ตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ 49 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากเหตุการข้างต้นแม้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่จะยังไม่ถึงระดับที่กฎหมายกำหนด แต่มีผลทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจ หรือกล่าวได้ว่า “ไม่ถึงขั้นเมาก็เสี่ยงแล้ว” และยังสะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในผู้ขับขี่ อาจจะไม่ใช่ระดับที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน กรณีของผู้ก่อเหตุรายนี้ ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ควรจะใช้เกณฑ์ตามกฎหมายที่ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่อยู่ในระดับที่ผู้ขับขี่จะแสดงลักษณะอาการมึนเมา หรือความบกพร่องในการขับขี่ยานพาหนะ และขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล เช่น เพศ อายุ น้ำหนักตัว ไขมันในร่างกาย ปริมาณการดื่มและอัตราการดื่ม และอาหารในกระเพาะอาหาร
มาตรการที่ไทยควรผลักดันให้เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกแนะนำ ได้แก่ 1.การกำหนดค่าสูงสุดของระดับความเข้มของแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration: BAC) ของผู้ขับขี่เป็นศูนย์ คือ ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะไม่ควรตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ในเลือด หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ มาตรการนี้มีถูกใช้ใน 15 ประเทศ และมี 27 ประเทศที่กำหนดขีดจำกัดสูงสุดของ BAC ในระดับที่ต่ำมาก (ต่ำกว่า 0.03%) เช่น อุรุกวัย บราซิล และจีน ที่ลดขีดจำกัดสูงสุดของ BAC ตามกฎหมายเป็นศูนย์ ส่งผลให้อุบัติเหตุร้ายแรง การบาดเจ็บจากการจราจร และอัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2.มาตรการตั้งจุดตรวจลมหายใจวัดระดับแอลกอฮอล์แบบสุ่ม (Random breath testing: RBT) บางประเทศในทวีปออสเตรเลีย ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม นำมาตรการนี้มาใช้พบว่า เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพลดอุบัติเหตุจราจรที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจรในเวลากลางคืนที่มีความร้ายแรงหรือมีผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
“ลักษณะสำคัญของ RBT คือ ผู้ขับขี่รถ ไม่ว่าใครก็ตาม สามารถถูกเรียกให้หยุดและทดสอบลมหายใจได้ตลอดเวลา การปฏิบัติเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. การตั้งจุดตรวจโดยทั่วไปที่มักถูกจัดให้เห็นได้อย่างชัดเจน 2.บังคับใช้มาตรการนี้เข้มงวด 3.ดำเนินการสม่ำเสมอและต่อเนื่อง 4.ทำให้ผู้ขับขี่อย่างน้อย 1 ใน 2 คน ได้รับการทดสอบลมหายใจในแต่ละปี 5. ดำเนินการพร้อมกับการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ตอกย้ำหรือเพิ่มการรับรู้ของผู้ขับขี่ถึงโอกาสในการถูกตำรวจเรียกหยุดและถูกทดสอบ และจากการสำรวจในหลายประเทศ ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่รายงานว่า เคยได้รับการตรวจระดับแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากนี้ผู้ขับขี่ที่เห็นจุดตรวจ RBT หรือถูกเรียกให้หยุดและทำการตรวจรายงานว่า มีแนวโน้มรับรู้ถึงโอกาสถูกจับกุมหากดื่มแล้วขับมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของมาตรการเพื่อผลในเชิงป้องปราม” รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าว
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์การสาธารณสุขในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่อง ดื่มแล้วขับ ให้มากกว่านี้ โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้รถใช้ถนน โดยการสนับสนุน 2 มาตรการที่ได้กล่าวข้างต้น
การกำหนดค่าสูงสุดของระดับความเข้มของแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration: BAC) ของผู้ขับขี่เป็นศูนย์ และมาตรการตั้งจุดตรวจลมหายใจวัดระดับแอลกอฮอล์แบบสุ่มอย่างครอบคลุม ทำให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่า หากขับรถต้องไม่ดื่ม ต้องสนับสนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอุปกรณ์ตรวจและงบประมาณดำเนินการเพียงพอ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ โดยไม่มองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิการดื่มและไม่บ่นเจ้าหน้าที่ หากรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าตัดสินใจทำเรื่องนี้ จะช่วยลดการตายบนท้องถนนได้ถึง 5,000 คน/ปี สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน