ราม วัชรประดิษฐ์
www.arjanram.com
พระกริ่ง สุดยอดวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างมากประเภทหนึ่ง พระกริ่งในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ‘พระกริ่งนอก’ คือ พระกริ่งจากต่างประเทศ และ ‘พระกริ่งใน’ คือ พระกริ่งที่สร้างในประเทศไทย
กล่าวถึงพระกริ่งนอกที่มีค่านิยมสูงนั้น นอกจากพระกริ่ง ชุด “เทียมตึ้งโงโจ้ว” อันประกอบด้วย พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งหนองแส พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งจีนใหญ่ และ พระกริ่งทีอ๋อง แล้ว ยังมีพระกริ่งนอกอีกหนึ่งพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเช่นกัน นั่นคือ “พระกริ่งเขมร” หรือ “พระกริ่งตั๊กแตน”
พระกริ่งเขมร หรือ พระกริ่งตั๊กแตน ไม่ได้เป็นการจำลององค์พระไภษัชยครุ เช่น พระกริ่งจีน ทิเบต และไทย แต่ด้วยความมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และมีประสบการณ์ปรากฏเป็นที่เล่าขานกันมาแต่โบราณ ทั้ง คงกระพันชาตรี มหาอุตม์ แคล้วคลาด นิรันตราย และเมตตามหานิยม ทำให้เป็นที่นิยมาะสมและแสวงหากันอย่างสูง ปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่ง
พระกริ่งเขมร มีแหล่งกำเนิดที่ประเทศกัมพูชา อายุการสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 7 ซึ่งเขมรได้รับเอาอิทธิพลของพุทธศาสนาลัทธิมหายานและศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงริเริ่มจัดสร้าง ‘พระกริ่ง’ จากเค้าเรื่องใน ‘สมณาวตาร’ ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยจำลองเป็นรูปสมมุติของพระนารายณ์อวตารปางหนึ่งที่ลงมาช่วยเหลือมนุษย์ในยามที่เกิดยุคเข็ญ ด้วยความที่เค้าพระพักตร์ออกไปทางเขมร จึงขนานนามว่า “พระกริ่งเขมร” นอกจากนี้ยังไปคล้ายกับแมลงชนิดหนึ่งคือ ‘ตั๊กแตน’ จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “พระกริ่งหน้าตั๊กแตน” ซึ่งมีการจัดสร้างต่อกันมาในหลายยุคหลายสมัย ที่มีค่านิยมสูงจะเป็น “ยุคต้น” ที่มีการสร้างมาราวๆ 700-800 ปีขึ้นไป
เนื้อองค์พระจะเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ บางองค์ที่แก่เงินมากๆ จะมีสนิมขึ้นจนเนื้อกลับเป็นสีดำ โดยมีสนิมหยกกับสนิมแดงขึ้นอยู่โดยทั่วไป และเนื่องจากเป็นพระที่บรรจุกรุเป็นเวลานาน ถ้าไม่ผ่านการขัดล้างอย่างหนัก ก็จะมีผิวดินขี้กรุติดแน่นตามซอกลึกๆ ขององค์พระ รวมทั้งคราบเบ้าผิวไฟที่เห็นอยู่ใต้ผิวลงไปอีกชั้นหนึ่ง
วิธีการสร้างก็แตกต่างจากพระกริ่งอื่นๆ คือใช้กรรมวิธีการสร้างแบบหล่อโบราณ และเป็นการปั้นพิมพ์ทีละองค์ แล้วจึงใช้ดินขี้วัวพอก ซึ่งถือเป็นข้อสังเกตสำคัญ ถ้านำพระกริ่งสององค์มาเปรียบแล้วเหมือนกันทุกอย่าง แสดงว่าต้องเก๊องค์หนึ่งหรือไม่ก็เก๊ทั้งสององค์ ลักษณะการบรรจุกริ่งก็เป็นแบบกริ่งในตัว แต่รุ่นหลังๆ จะใช้วิธีบรรจุเม็ดกริ่งแบบในตัวมากกว่าเพราะกรรมวิธีสะดวกกว่า
พุทธลักษณะโดยทั่วไปที่เหมือนกันคือ องค์พระประทับนั่งเหนืออาสนะฐานบัว 2 ชั้น พระเศียรค่อนข้างกลม เม็ดพระศกเป็นตุ่มนูนวางเรียงปกคลุมลงมาด้านหน้ามาก พระนาสิกยื่นออกมามาก พระเนตรเป็นตอกเป็นเส้นลึกเฉียงขึ้นไปทางด้านบนแบบตาจีน ไม่ปรากฏลายละเอียดแสดงถึงพระโอษฐ์ และพระขนงพระกรรณลักษณะเป็นเส้นวางแปะอยู่บนเม็ดพระศกและยาวลงมาจรดพระอังสา พระศอมีสร้อยลูกประคำที่ค่อนข้างใหญ่ เป็นเม็ดกลมบ้าง ตุ่มแหลมบ้าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่ง
เนื่องจากเป็นการสร้างแบบปั้นหุ่นเทียนที่ละองค์ องค์พระจึงมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไปไม่มากก็น้อย และมีพุทธลักษณะไม่เหมือนกันเป๊ะ เช่น การวางพระหัตถ์ ก็มีทั้งปางสมาธิ ปางมารวิชัย และปางมารวิชัยกลับด้าน (ปางสะดุ้งกลับ), การถือของในพระหัตถ์ ก็มีจะทั้งแบบไม่ถืออะไรเลย ถือดอกบัวบ้าง ถือหม้อน้ำมนต์บ้าง ถือหอยสังข์บ้าง ฯลฯ, ตามคตินิยมของผู้สร้างส่วนมากจะถือดอกบัว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะประทับนั่งสมาธิเพชร อยู่เหนือวัชรอาสน์ยกเป็นฐานสูงสองชั้น ความโดดเด่นอีกประการ คือ ที่เม็ดพระศก ลูกประคำ หรือเม็ดบัวที่ฐานนั้น จะเป็นแบบเม็ดปั้นจนเป็นก้อนกลมนูนขึ้นมาอย่างชัดเจน ส่วนที่ใต้ฐานจะมียันต์ ‘โอม’ ที่มีลักษณะคล้ายกับเลขหนึ่งไทย (๑) ลักษณะการปั้นเป็นเส้นแบบขนมจีนและขดวางลงไปที่หุ่นเทียน มีความหมายถึงคำว่า "โอม" บางองค์เป็นฐานเรียบๆ ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ก็มี ฐานบัวก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน อันเป็นการแบ่งแยกเป็นพิมพ์ต่างๆ พิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีอาทิ
- พิมพ์บัวฟองมัน มีเอกลักษณ์คือ ที่ฐานบัวด้านหน้าจะพบบัวฟองมันปรากฏอยู่ ส่วนทางด้านหลังอาจเป็นบัวขีด หรือบัวฟันปลาผสมอยู่ก็เป็นได้
- พิมพ์บัวตุ่ม บัวย้อย บัวที่ฐานด้านหน้า แทนที่จะเป็น ‘บัวฟองมัน’ กลับเป็นตุ่มกลมเล็กๆ เรียงรายตั้งแต่ 7-9 เม็ด เรียกว่า “บัวตุ่ม” ส่วน “บัวย้อย” นั้น หมายถึง บัวตุ่มเม็ดริมทั้งสองข้างจะมีบัวตุ่มอีกดอกหนึ่งห้อยย้อยลงมาเพิ่มเติม
- พิมพ์บัวเม็ดมะยม จะเหมือนกับ ‘พิมพ์บัวตุ่ม บัวย้อย’ ทุกประการ แต่ที่เม็ดบัวตุ่มและบัวย้อย จะมีรอยบากลึกเป็นรูปกากบาททุกดอก ส่วนด้านหลังอาจเป็นบัวฟันปลา บัวขีด หรือบัวประเภทอื่นก็ได้
- พิมพ์บัวขีด ฐานด้านหน้าจะไม่ปรากฏเป็นรูปดอกบัว หากแต่จะเป็นรอยขีดเป็นเส้นลึกลงไปในเนื้อ ลักษณะของการขีดเป็นเส้นทแยงขึ้นลงสลับไปมารอบอาสนะ
- พิมพ์บัวฟันปลา เป็นพิมพ์ที่นิยมสร้างกันมากและพบมากกว่าพิมพ์อื่นๆ มีจุดสังเกตคือ จะมีรูปสามเหลี่ยมเหมือนฟันปลาเรียงรอบฐาน ซึ่งมีทั้งแบบบัวสองชั้นและบัวชั้นเดียว
การพิจารณาพระกริ่งตั๊กแตน เนื่องจากมีความแตกต่างทางพุทธลักษณะพิมพ์ทรง จึงต้องพิจารณาจากเนื้อหา ความเก่า คราบสนิมขุม ฯลฯ นอกจากนี้ ในยุคต้นๆ ให้สังเกตช่วงแขนจะย้อยออกไปทางด้านหลัง ถ้าแขนสั้นๆ ลอยๆ ไม่ย้อยมักจะสมัยไม่ค่อยจัดนัก ส่วนเม็ดพระศกนั้นยิ่งเก่าจะยิ่งมีลักษณะเม็ดหนาใหญ่ ใช้เป็นข้อพิจารณาได้อีกประการหนึ่งครับผม