บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

เป็นที่คาดหมายของฝ่ายอนุรักษ์มาแต่แรกแล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าผ่านรัฐสภายาก ซึ่งปรากฏผลเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ว่าไม่สามารถผ่านวาระแรกไปได้ เพราะฝ่ายอนุรักษ์เห็นว่าการปลดล็อกท้องถิ่นดังกล่าวมีเงื่อนไขที่ “สุดโต่ง” ด้วยจำนวนสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 361 เสียง (จาก 722 เสียง) มีเสียงสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยเพียง 254 เสียง และ ส.ว.ที่เห็นด้วยเพียง 6 เสียงไม่ครบเกณฑ์กว่า 83 เสียง (1 ใน 3) แม้จะรู้ผลแต่แรกก็ตาม ประชาชนผู้เสนอที่มีจำนวนถึงเจ็ดหมื่นเศษก็ไม่ท้อ เพราะหากไม่มีการเริ่มต้นไฉนเลยการปลดล็อกท้องถิ่นถึงจะเป็นได้

ท้องถิ่นได้ผ่าน “ยุคทองของการกระจายอำนาจ” นับแต่ปี 2544-2545 นับเวลามาได้ร่วม 20 ปี ถือว่าเพียงเริ่มต้น เพราะการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่า พัฒนาการปกครองท้องถิ่นต้องใช้เวลาถึง 100 ปีจึงจะตกผลึกเหมือนอย่างอารยสากลต่างประเทศ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่า ตามข้อเท็จจริงนั้นพัฒนาการต้องคิดจากพัฒนาการความก้าวหน้าของโลก ต้องวิ่งตามทันโลก มิใช่คิดเพียงจากจิตสำนึกของคน หากยิ่งมีกรอบความคิดว่าจิตสำนึกของประชาชนชาวไทยมีน้อย ยิ่งต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปีเป็นแน่แท้ เพราะหลักการกระจายอำนาจนั้นมิใช่เรื่องของการแบ่งแยกประเทศ หรือมีหลักการที่ทำลาย “รัฐเดี่ยว” (Unitary State) แต่อย่างใด

ฝ่ายแนวคิดกลุ่มอนุรักษนิยมเห็นว่า เพราะสังคมไทยยังไม่พร้อมในการกระจายอำนาจ เห็นได้จากความพยายามกระจายอำนาจไม่ว่าจะด้วยการตรากฎหมาย หรือการถ่ายโอนภารกิจไม่คืบหน้า เพราะติดขัดนี่นั่น ที่สำคัญคือความจริงของรัฐที่ถืออำนาจ เรียกว่า เป็นที่มีโครงสร้างแบบ “รัฐราชการรวมศูนย์” (Centralized) นำโดยชั้นนำ (Elite) และกลุ่มข้าราชการที่มีกรอบความคิดอนุรักษนิยมและ “อำนาจนิยม” (Authoritarianism) ฝ่ายอำนาจรัฐมีแนวโน้มหย่อนหลักนิติธรรมหลักนิติรัฐ (Rule of Law, Legal State, Due Process of Law) ตามหลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ที่บิดเบี้ยว ไม่สมดุลกัน หลายกรณีชี้ให้เห็นว่า กรอบการใช้อำนาจรัฐ มีข้อจำกัด ขาดหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล ความโปร่งใสเป็นธรรม

เพราะหลักนิติธรรมนั้นใช้ถ่วงดุลการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก (Free Speech) มักมีข้อจำกัดด้วยเรื่องหยุมหยิม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมจากกฎหมาย และความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มของการใช้อำนาจรัฐแบบ “อำเภอใจ” จนเป็น “รัฐตำรวจ” (Police State) เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไปจนถึงการใช้อำนาจกดขี่ (arbitrary power, capricious power, despotic) มักเกิดปัญหาเส้นแบ่งการใช้อำนาจ ที่มิใช่อำนาจบารมี คือระหว่างการใช้ดุลพินิจและอำเภอใจ

มายาคติท้องถิ่นแย่คือปัญหาของพัฒนาการกระจายอำนาจ

หลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกคว่ำ นักวิชาการต่างดาหน้าออกมาเสนอวาทกรรมการกระจายอำนาจ ตามเวทีสัมมนา รวมสื่อข่าวต่างๆ มันช่างเหลวไหลสิ้นดี คงมิใช่เพราะเพียงการหาเสียงใกล้เลือกตั้ง ในที่นี้ ในวงการท้องถิ่นมีบทเรียนหลายบทที่ควรถอดบทเรียนเพื่อค้นหา “นวัตกรรม” (Innovation) หรือองค์ความรู้ในบริบทของท้องถิ่น เพราะหลายๆ บทเรียนเกิดซ้ำซากวนเวียน โดยมิได้แก้ไข หรือมีสูตรสำเร็จที่เหมาะสมในการปฏิบัติ ทำให้ท้องถิ่นเกิดความสบสน ไม่มั่นใจการบริหารจัดการ เพราะหากดำเนินการผิดพลาดย่อมถูกตรวจสอบชี้มูลความผิดและลงโทษจาก สตง. หรือ ป.ป.ช. (รวมทั้ง ป.ป.ท.)

มีความเคลื่อนไหวทางวิชาการที่น่าสนใจ ในเวทีสัมมนาว่าด้วยการกระจายอำนาจในหัวข้อ The Nest Station อนาคตก้าวที่ 26 (ปี) ของการกระจายอำนาจ ณ สถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ชี้ว่าปัญหาอุปสรรคกระจายอำนาจ 25 ปี คือมายาคติ “ท้องถิ่นเลว” ขวางการกระจายอำนาจ จึงถูกขวางทั้งจากอำนาจส่วนกลางและบั่นทอนจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพราะการพัฒนาท้องถิ่นคือการพัฒนาประเทศ และต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นเพื่อสร้างสมรรถนะในการใช้ต้นทุนของตนเองพัฒนา เตือนประชาชนเริ่มขานรับการกระจายอำนาจแล้ว เสนอแนะให้ อปท.ทบทวนตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การกระจายอำนาจในอนาคต 5 ข้อ คือ (1) การมีสติ รู้ว่าหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่นต้องทำอะไร สัญญากับประชาชนว่าอย่างไร (2) ความไม่ประมาท องค์กรท้องถิ่นต้องหมั่นตรวจสอบสิ่งที่ทำนั้นตรงกับการแก้ปัญหาหรือไม่ หมั่นตรวจสอบว่า มีอะไรใหม่ๆ อีกที่จะต้องลงมือทำ และปล่อยปละละเลยจนเวลาล่วงเลยให้เสียโอกาส (3) ต้องระมัดระวัง ขององค์กรท้องถิ่น คือการตรวจสอบระเบียบ ข้อกฎหมาย สิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่เราจะต้องทำ (4) มองโลกในแง่ดี ให้มองทุกอย่างที่ก้าวมาถึงวันนี้โอกาส กลับมาถามตัวเองว่าเราทำเต็มที่หรือยัง กลับมาถามตัวเองว่างบประมาณที่มีอยู่นี้ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ ต้องทำอย่างไร เลิกบอกว่าขอความเห็นใจจากรัฐบาล เพราะเขาไม่ชอบการกระจายอำนาจ ฉะนั้นโอกาสที่จะสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นอย่างจริงจังเป็นไปได้น้อย อย่ามองอุปสรรคเป็นเครื่องกีดขวางแต่ให้มองว่าเป็นโอกาสที่ท้าทาย และข้อสุดท้าย (5) ให้หมั่นทำบุญ คือการทำความดี สูงสุดขององค์กรท้องถิ่นคือ การทำให้ประชาชนมีความสุขได้รับประโยชน์สูงสุด การทำให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข การยกระดับประชาชนที่ขาดโอกาสขึ้นมาให้เป็นผู้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

และในวันเดียวกันนี้มีสัมมนาต่อในหัวข้อ “จับตาอนาคตการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย” ประกอบด้วย 4 มิติ คือ (1) มิติด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (2) มิติด้านโครงสร้าง อำนาจ หน้าที่ และการกำกับดูแล (3) มิติด้านการหารายได้ และ (4) มิติด้านการจัดบริการสาธารณะ

ข้อเสนอการกระจายอำนาจ 2566 ของพรรคพลังท้องถิ่นไท 5 ข้อ

เป็นข้อเสนอเดิมๆ ที่มีการเรียกร้องกันมาตลอดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ครั้งนี้ ก็ถือเป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ดี

1) เพิ่มเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ 35% ในปีงบประมาณ 2567 (2) ปรับปรุงกฎหมายเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับส่วนราชการ และหามาตรการงดหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค (3) เร่งรัดกฎหมายองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มเติมที่เสนอรัฐบาลแล้ว เช่น ร่างกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแม่สอด, นครเกาะสมุย และนครแหลมฉบัง (4) เร่งรัดร่างกฎหมายระเบียบบุคคลของข้าราชการและพนักงานท้องถิ่น พ.ศ.... เพื่อยกระดับบุคลากรและพนักงานท้องถิ่น ให้มีศักดิ์ศรี เทียบเท่าข้าราชการส่วนอื่น และ (5) ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งรวมศูนย์อำนาจการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น เช่น การสอบและเลื่อนระดับข้าราชการส่วนท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่นไว้ที่ส่วนกลาง โดยเสนอเห็นควรมอบอำนาจไว้ ก. จังหวัด หรือ ก. กลุ่มจังหวัด เป็นผู้จัดสอบและสอบเลื่อนระดับแทน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องรายได้ท้องถิ่นปี 2566 นี้ถือเป็นการจัดเก็บภาษีเป็นปีแรกนโยบายรัฐบาลให้ลดภาษีที่ดิน 15% กลายเป็นท้องถิ่นต้องแบกรับภาระ ที่คนรวยได้ประโยชน์ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด เงินภาษีที่ท้องถิ่น 7.8 พันแห่ง ที่จัดเก็บเองหายไปถึงสองหมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลมิได้ชดเชยให้ ส่งผลกระทบต่องบประมาณในการลงทุนลดลง การจัดซื้อจัดจ้าง แผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานถูกพับ

ย้อนรอยถอดบทเรียนท้องถิ่นในรอบปีที่ผ่านมา

มาดูก่อนที่การปกครองมหานคร กทม.ทางรถไฟลอยฟ้า สีต่างๆ ไม่ก้าวหน้า และต้องจ่ายค่าสัมปทานนอกระบบจำนวนมาก วกมาที่ประเด็นนักการเมืองท้องถิ่น กับการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ ที่มีสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอดในช่วง 8 ปี มีการมอบอำนาจด้านการบริหารงบประมาณ และการจัดทำแผนพัฒนาให้แก่นายก อปท.เห็นกันจะๆ ลองมาเปรียบเทียบ อดีต ปัจจุบัน เห็นพัฒนาการได้ชัดว่า เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า เป็นแนวคิดตามแนวทางกระจายอำนาจแบบประชาธิปไตยตรงๆ แม้จะเป็นการสร้างคุณค่าในตัว แต่ยากที่จะสู้อิทธิพลรวมศูนย์ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจไทยได้

เรื่องการจัดการขยะ เรื่องประปา ไม่ได้ยากเกินกว่าที่ อปท.จะทำได้ หากคนท้องถิ่นมีใจ และใส่ใจจะทำ การแสวงหาความร่วมมือทำได้ แต่อำนาจรวมศูนย์ของส่วนกลางหลายอย่างกลับเป็นอุปสรรค ด้อยค่าภารกิจท้องถิ่นลง การขอรับการสนับสนุน ขอความร่วมมือท้องถิ่นจากผู้กำกับดูแลอยู่เนืองๆ เสมือนการถูกรีดไถ ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเม็ดเงินงบประมาณของ อปท.มีแต่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการบริหาร การพัฒนาโดยตรง เห็นได้จาก งานพัฒนาในรอบปีที่ผ่านมาของ อปท.ไม่เด่น น่าจะมาจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ (1) เจ้าหน้าที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกันมาก (2) โรคระบาดโควิดและสาธารณภัยต่างๆ เช่น อุทกภัย (3) เป็นยุคของการรวมศูนย์ที่มากขึ้น (4) เงินงบประมาณที่จัดสรรลดลงในอัตราส่วนที่ควรจะได้เพิ่ม (5) ราชการส่วนกลาง ออกระเบียบ ใช้คน อปท.ไปทำงานแทน เช่น นายช่าง อปท.ไปช่วยงานช่างอำเภอ หลายรายก็โดนชี้มูลวินัยและอาญาจาก ป.ป.ช. เป็นต้น

มีการอ้างปัญหาบริหารงานภายในของ อปท.เช่นว่า คนท้องถิ่นไม่สามัคคีกัน เพราะมีทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายประจำ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานจ้างเหมา ที่อาจประสบปัญหาการประสานงานการทำงาน ด้วยระบบอุปถัมภ์แบ่งพรรคแบ่งพวก สูญเสียการบังคับบัญชา เช่น เพราะเด็กเส้น และในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่หลายๆ คนต้องถูกตรวจสอบและชี้มูลความผิดโดย สตง. ป.ป.ช. ปัญหานี้เป็นแทบทุก อปท. คือ ความอยุติธรรมของการบริหารงานภายในนั่นเอง

ต่อจากนี้ไปพื้นที่เป้าหมายของพรรคการเมืองคือ อปท.

สมควรเริ่มดำเนินการปลดล็อกท้องถิ่นได้แล้ว ปัญหามีว่าประชาชนคนท้องถิ่นจะเลือกพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองคนใดที่มีแนวนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป (เลือกตั้งใหญ่) ในปี 2566 คน อปท.จะเป็นหัวคะแนนให้ใครดี ให้ฝ่ายไหนดี ฝ่ายเผด็จการ (ฝ่ายรวมศูนย์อำนาจปัจจุบัน) หรือฝ่ายประชาธิปไตยดี

เสียงจากคนรุ่นใหม่และผู้เลือกตั้งนิวโหวตเตอร์ (New Voter) ที่อายุไม่เกิน 25 ปี ที่มีจำนวนเพิ่มถึงปีละ 7 แสนคน รวม 4 ปี คิดเป็นจำนวน 2.8 ล้านคนถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร เพราะคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ที่รวมทุกช่วงอายุบวกกับเสียงของ New Voter ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนเป็นเสียงชี้ขาดการเลือกตั้งแน่นอนว่าคะแนนเสียงเหล่านี้จะเทไปพรรคใด กลุ่มใด

รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารต้องมีนโยบายเร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดการกระจุกตัวการพัฒนา เพื่อปลดล็อกท้องถิ่นไปตามขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะท้องถิ่นถูกดอง ถูกตัดตอนพัฒนาการกระจายอำนาจมานานร่วม 8-9 ปี เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้ง อปท.มาตั้งแต่ปี 2553-2562 ส่งผลต่อพัฒนาการการปกครองท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ที่ส่งผลกระทบการบริหารงานภายในของ อปท.ในเรื่องการบริหารงานบุคคลเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางความก้าวหน้าอาชีพ (Career Path) ของข้าราชการท้องถิ่นสะดุด อัตรากำลังตามโครงสร้างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามกรอบโครงสร้าง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนบุคคล ประกอบกับข่าวการทุจริตการสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่นปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และภาพลักษณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้ตำแหน่งเช่น นายช่างโยธา และข้าราชการในสายงานผู้บริหารต้น ขาดจำนวนมาก โดยเฉพาะ อบต. จึงมีข้าราชการสายงานวิชาการและสายงานทั่วไปจำนวนมากที่ต้องรักษาราชการแทนในตำแหน่งสายงานผู้บริหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งแทบจะไม่เป็นผลดีต่อระบบการบริหารงานท้องถิ่นเลย เพราะ อปท.มีงบประมาณตั้งเงินเดือนไว้รองรับอัตราที่ว่างแล้ว

ยังมีข้อกังขาในช่วง คสช.ที่ไม่มีการเลือกตั้ง อปท.นั้น ผลงานของนายกอปท.ในช่วงนั้นคือ หัวคิวจากเม็ดเงินโครงการต่างๆ และการเปิดช่องอำนาจในการบริหารงานงบประมาณต่างๆ ให้แก่นายก อปท. ได้ง่ายขึ้น แต่ในส่วนของประชาชนชาวบ้านทั่วไปถือว่าปกติไม่มีโครงการพิเศษอะไร โควิดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา  ทำให้โครงการมีจำนวนจำกัด งบประมาณที่ได้มีน้อย 

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าสำคัญมาก กฎหมายให้นักการเมืองท้องถิ่นสามารถหาเสียงช่วย ส.ส.ได้แบบนี้สบายแน่ เพราะนายก อปท. และสมาชิกสภาต้องมีนักการเมือง พรรคการเมืองในหัวใจแน่นอน ผลงานของพรรคการเมืองและนักการเมืองระดับชาติ (ส.ส.) ต้องปรากฏในพื้นที่ อปท.ด้วย ตามกำลังพลชาวบ้านหัวคะแนนที่แต่ละพรรค ที่แต่ละนักการเมืองมีอยู่รวมในท้องถิ่นพื้นที่นั้นๆ ระบบการเมืองระดับชาติกำลังจะลงไประดับท้องถิ่นเต็มๆ ก็ตอนนี้แหละ ยิ่งเขตเลือกตั้งใดมีการเมืองแบบ “บ้านใหญ่” ยิ่งสบาย อำนาจพลังประชาชนโดยเฉพาะ New Voter ต้องปะทะกับการเมืองบ้านใหญ่แน่นอน สรุปว่าการเมืองท้องถิ่นจะเข้มข้น เพราะ อปท.คือ ฐานการเมืองให้ระดับชาติมีขุมกำลังคะแนนเสียงของประชาชนมากพอในระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมาส่วนกลาง ให้ความสำคัญต่อ อปท.น้อย ต่อไปเมื่อการโอน รพ.สต.มาสังกัด อบจ.จะทำให้ระบบการเมืองท้องถิ่นหนักมากขึ้นแบบเต็มร้อย เพราะ รพ.สต.ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ทำให้คลุมหมดไปถึง อสม.ในเขตรับผิดชอบของ รพ.สต.ด้วย ทำให้ อสม.มีบทบาทบารมีมากขึ้น มากกว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) จะเข้าถึง ส.อบจ/นายก อบจ. ได้มากกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำ อปท. การทำงานประสานงานมองในสองด้านเมื่อมีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ จึงต้องสร้างความร่วมมือและสร้างนวัตกรรมใหม่ในการทำงานร่วมกันกับ รพ.สต.และ อสม.ให้มากขึ้น เพราะ รพ.สต.อยู่ในเขตพื้นที่ของ อบต. และเทศบาลตำบล

ทราบว่าตอนนี้นวัตกรรมใหม่ของท้องถิ่น คือ แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เกี่ยวกับบริหารจัดการปัญหาเมือง เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านต่างๆ จะนำมาใช้ในทุกท้องถิ่นด้วย สารพัดบทเรียนมากมายที่ท้องถิ่นผ่านมา อปท.ต้องถอดบทเรียนให้หมด เช่น โครงการถังขยะเปียก 100 % ลดโลกร้อน, โครงการสงครามยาเสพติด (การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ อปท.),  โครงการนวัตกรรมไฟฟ้าแสงสว่างโซล่าเซล, โครงการติดตั้งกล้อง CCTV, โครงการตรวจประเมิน LPA&ITA, โครงการป้องกันอุบัติภัย 7 วันอันตรายช่วงเทศกาล ฯลฯ เป็นต้น รวมไปถึงกิจกรรมงานฝาก งานขอความร่วมมือต่างๆ เช่น โครงการโคกหนองนาโมเดล โครงการรำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย งานราชทัณฑ์ งานคุมประพฤติ งานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท งานปศุสัตว์ งานบริบาลคนภาวะพึ่งพิง งานเด็กและเยาวชน งานการพัฒนาสตรี งานกองทุนหมู่บ้าน งานศูนย์สงเคราะห์ประจำหมู่บ้าน งานผู้สูงอายุ และรวมถึงงานโควิดที่ยังไม่จบ เพราะพื้นที่ดำเนินการคือท้องถิ่น อปท.เป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นเจ้าของประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั้งหมด กำลังนั่งเขียนบทความนี้อยู่ดีๆ มีเสียงบ่นคนท้องถิ่นดังมาแว่วๆ ว่างานมากจัง แต่คนทำงานและงบไม่มี