ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ชีวิตอาจจะไม่อมตะ แต่ความรักนั้นอมตะเสมอ
แม่บอกกับไชยาว่าลดาวัลย์กำพร้าแม่ตั้งแต่เด็ก ๆ ระพีผู้เป็นป้าเลยรับเอามาเลี้ยงและส่งเสียจนเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ลดาวัลย์หรือ “เปิ้ล” ได้ทำงานในบริษัทด้านการเงิน แต่พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งก็พากันแพแตก ส่วนระพีก็ป่วยกระเสาะกระแสะ เธอดูแลจนระพีเสียชีวิตและจัดการศพจนเรียบร้อย แต่เธอก็ทราบต่อมาว่าป้าของเธอมีหนี้สินเยอะมาก กระทั่งบ้านถูกยึด แม่ของไชยารู้เข้าจึงขอให้ไชยารับมาอยู่ในบ้าน โดยขอให้นึกว่าเป็นญาติคนหนึ่ง เพราะแม่กับระพีนั้นเป็นเพื่อนรักที่สนิทกันมาก
เปิ้ลค่อนข้างเจียมเนื้อเจียมตัว เธอพยายามหางานอยู่เป็นเดือนแต่ก็ไม่ได้งานสักที ไชยาจึงบอกว่าให้เป็นคนดูแลบ้านเขาก็ได้ โดยเขาจะให้เงินเดือนพอสมควร ซึ่งเปิ้ลก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ทั้งยังทำงานบ้านอย่างขันแข็งและเรียบร้อยดีมาก รวมถึงการทำอาหารที่มีฝีมือและมีรสอร่อยไปทุกเมนู ทำให้ไชยาแอบปลื้มอยู่ในใจ แต่เขาก็พยายามห้ามใจที่จะไม่ให้มีอะไรเกินเลย จนเวลาผ่านไปเป็นปีก็เกิดเรื่องจนได้ ไชยาเมามาในตอนดึกของวันหนึ่ง ลูกน้องที่ทำงานขับรถมาส่งแล้วกดออดเรียกที่หน้าบ้าน เปิ้ลเปิดประตูออกไปรับ แล้วลูกน้องก็พยุงตัวไชยามานอนบนโซฟาที่ห้องรับแขก พอลูกน้องกลับไปแล้ว เปิ้ลก็เอาผ้าชุบน้ำมาเช็ดตามใบหน้าและคอ พอไชยารู้สึกตัวเขาก็พยายามจะขึ้นไปนอนด้วยตัวเขาเอง แต่ก็ไม่ไหวต้องให้เปิ้ลช่วยพยุง
ตอนสายวันต่อมา ไชยาอาบน้ำแต่งตัวแล้วก็ลงมาหาอะไรกินด้วยความหิว โดยจำไม่ได้ว่าเมื่อคืนเกิดเรื่องอะไรขึ้น จนเมื่อเจอกับเปิ้ลที่ในห้องครัว เขาถามว่ามีอะไรกินบ้าง เปิ้ลก็ไม่ตอบและยืนหันหลังทำอาหาร แต่ก็มีเสียงสะอื้นออกมาเบา ๆ พอเขาเดินเข้าไปถามใกล้ ๆ เขาก็นึกถึงเรื่องเมื่อคืนนั้นได้เลา ๆ เขาบอกว่าเขาจะรับผิดชอบ แต่ขอให้เปิ้ลเก็บเรื่องนี้ไว้เงียบ ๆ ก่อน ผ่านไปอีก 2 เดือน ไชยาจึงได้บอกเรื่องนี้กับแม่ ซึ่งปฏิกิริยาของแม่ทำให้ไชยาประหลาดใจมาก แม่ไม่มีทีท่าตกใจอะไรเลย ทั้งยังบอกว่าจะขึ้นไปตกแต่งให้ตามธรรมเนียม โดยจัดเลี้ยงพระและผูกข้อมือกันเงียบ มีเพื่อนของแม่และคนที่รู้จักกับเปิ้ลเพียง 4-5 คนมาเป็นพยาน มีพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยที่อยู่แถวข้างวัดใกล้บ้านมาเป็น “แก่พิธี” และให้พรคู่บ่าวสาว
ปีถัดมาเปิ้ลก็ตั้งท้องและคลอดลูกเป็นเด็กผู้ชาย ไชยาให้เปิ้ลตั้งชื่อเล่นของลูกเอง ซึ่งเปิ้ลก็ตั้งว่า “จ๋อม” มาจากคำว่า “จอม” แต่ออกเสียงด้วยวรรณยุกต์ทางเหนือ ส่วนชื่อจริงแม่ของไชยาเป็นคนตั้งให้ว่า “รพินทร์” ที่แม่บอกว่าเป็นพระเอกในนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ที่โด่งดังมากในยุคของแม่ แต่เขาพลันนึกไปถึงชื่อของเพื่อนแม่และป้าของเปิ้ล “ระพี” ที่เขาลืมไม่ลง
เปิ้ลเป็นแม่ที่ดีมาก เรารู้จักกันเมื่อ 5 ปีก่อนในงานเลี้ยงของสมาคมศิษย์เก่าที่มีศิษย์เก่าอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หลายคน ซึ่งไชยาก็เป็นรุ่นน้องของผมห่างกัน 3 ปี ตอนที่ผมเป็นซีเนียร์อยู่ชั้นปี 4 ไชยาก็เข้ามาเป็นเฟรชชี่หรือน้องใหม่พอดี จึงทันได้เห็นกันและสนิทสนมกันพอสมควร ไชยาพาเปิ้ลมาด้วย และในตอนกลับ “จ๋อม” ลูกชายของคนทั้งสองที่กำลังเรียนอยู่ในปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นคนขับรถมารับพ่อกับแม่ของเขา ทำให้ผมได้รู้จักกับครอบครัวของไชยาทั้งหมด
ไชยาลาออกจากงานในบริษัทก่อนเกษียณสัก 5 ปี เขาบอกว่าเปิ้ลดูแลจ๋อมเป็นอย่างดีมาก ๆ ทั้งการดูแลด้านสุขภาพร่างกายและการเรียน จนถึงทุ่มเทไปช่วยสอนช่วยติวลูกชายโดยไม่ต้องไปเสียค่าติวให้กับพวกติวเตอร์ทั้งหลาย กระทั่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ที่เขาประทับใจมากก็ตรงที่เปิ้ลจะพาจ๋อมไปช่วยงานชาวบ้านในทำนองจิตอาสา ช่วยเลี้ยงดูเด็กและคนแก่ในชุมชนใกล้เคียง รวมถึงการร่วมงานบุญงานกุศลแบบที่ไม่ได้ว่างเว้น เธอบอกกับลูกว่า “เราเกิดมาไม่รู้ว่ามีกรรมอะไรบ้าง ทำบุญช่วยเหลือคนเยอะ ๆ บางทีกรรมต่าง ๆ ก็จะเบาบางลง” พร้อมกับย้ำเสมอว่า “ทำดีให้เขารัก คนเขาก็จะจดจำความดีของเราตลอดไป”
ไชยาลงมากรุงเทพฯในวันหนึ่ง หลังอาหารค่ำเราไปดื่มต่อและฟังเพลงเบา ๆ ที่ล็อบบี้โรงแรมที่เขาพัก เราเริ่มต้นด้วยชีวิตในช่วงที่เราอยู่มหาวิทยาลัยด้วยกัน อยู่ ๆ เขาก็เล่าเรื่อง “ความรักทั้งหลาย” ของเขาให้ผมฟัง โดยเริ่มจากเรื่องของ “เอื้องเหนือ” สาวรีเชฟชั่นแสนงามที่เขาหลงรักหัวปักหัวปำคนนั้น ซึ่งก็คงเกิดขึ้นด้วยบรรยากาศของล็อบบี้โรงแรมที่ว่า จากนั้นก็เล่าถึงรักอื่น ๆ ออกมาเรื่อย ๆ จนข้ามคืนเข้าวันใหม่ ผมฟังไปก็สอบถามเขาไป เพื่อให้เขาเพิ่มรายละเอียดที่ผมสนใจ แต่เขาก็เล่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ตอบคำถามอะไรของผม มีหลาย ๆ ช่วงที่เขาวิเคราะห์ตัวเองและความรักของเขา เหมือนอยากจะ “สารภาพบาป” อะไรบางอย่าง
เขาเรียกบาปของเขาว่า “ความผิดพลาดต่อผู้มีพระคุณ” ซึ่งก็คือแม่ของเขานั่นเอง เขาบอกว่าเขาน่าจะมี “ปมเกลียดแม่” ฝังอยู่ลึก ๆ ในใจ ความผิดพลาดของเขาคือเขาไม่เชื่ออะไรแม่เลยตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเขาดูเหมือนจะถูกแม่บังคับให้อยู่ในโอวาทและต้องเชื่อฟังแม่ตลอดเวลา เขาทำการต่อต้านและประท้วงแม่ด้วยการพยายามทำให้ผู้หญิงรักและหักอกผู้หญิงบางคนนั้น รวมทั้งที่เขาเองก็ถูกผู้หญิงทำให้อกหักจนเจ็บปวดชอกช้ำอยู่หลายครั้งเหมือนกัน เขาพยายามที่จะไม่รักหรือหนีจากผู้หญิงที่แม่หาให้ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องมาใช้ชีวิตกับผู้หญิงที่น่าจะอยู่ใน “แผนการของแม่” นั่นก็คือการแต่งงานกับเปิ้ลหรือลดาวัลย์ ที่แม่ยินดีด้วยในท้ายที่สุด
เขาวิเคราะห์ตัวเขาเองว่า เขานี้เป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด ความรักที่มีมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ล้วนแต่มาจาก “ความระวังตัว” หรือการเห็นแก่ตัวเพื่อเอาตัวรอดของเขานั่นเอง ทำให้เขาไม่กล้าที่จะตกลงปลงใจกับใคร เพราะไม่อยากจะรับผิดชอบหรือเสียสละชีวิตให้กับใครนั่นเอง เขามองข้าม “ความรักอันบริสุทธิ์” ซึ่งก็คือความรักของแม่ที่ปรารถนาดีต่อเขาอย่างแท้จริง แม้จะเป็นการเข้ามายุ่มย่ามในชีวิตของเขา แต่นั่นแหละคือ “สายใยรัก” ที่คนที่รักเราอย่างแม้จริงนั้นจะมีให้เรา
เขาสรุปว่าเขาเลือกความรักไม่ได้ เพราะตั้งใจจะรักใครก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายความรักก็มาเลือกตัวเขาเอง ทั้งที่เขาไม่ได้มีทีท่าว่าจะรักเธอคนนั้น ซึ่งก็คือเปิ้ลหรือลดาวัลย์ ที่มอบความรักให้เขาจนหมดใจ ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกก็ไม่คาดคิดว่าจะมีความรักแบบนั้นเกิดขึ้น แต่เมื่อได้เธอมารักเขาแล้ว ชีวิตของเขาก็สมบูรณ์จนไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว เขาถามผมขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “ผมว่าผมสร้างเวรกรรมกับคนที่ผมรัก โดยเฉพาะแม่ของผมนี้ไว้มากมายเลยนะ แต่ท้ายที่สุดผมกับได้พบกับความรักที่ดีอย่างที่ไม่เคยคาดหวัง พี่ว่ามันเป็นเพราะอะไร”
ผมจำได้ว่าผมไม่ได้ตอบเขาไปในคืนนั้น คงเป็นเพราะง่วงนอนและสมองไม่ตอบรับอะไรแล้ว แต่ผมยังจำคำถามนั้นได้และพึ่งจะนึกคำตอบอย่างหนึ่งขึ้นมาได้
“อานุภาพของความรักอันบริสุทธิ์จากคนที่รักเราอย่างแท้จริงนั้นเอง โดยที่เราก็ต้องรักเขาตอบด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงเช่นกัน”