กรมวิชาการเกษตร สนองนโยบายรัฐมนตรี ลงพื้นที่สุ่มตรวจพืชผัก ผลไม้ ที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP ในห้างโมเดิร์นเทรด จังหวัดนครปฐม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค คาดปี 2560 ตั้งเป้าสุ่มตัวอย่างเพื่อสอบทวนระบบรับรอง จำนวน 9,500 ตัวอย่าง โดยโมเดิร์นเทรด ประมาณ 1,600 ตัวอย่างและแปลงปลูกอีก ประมาณ 7,900 ตัวอย่าง นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าวันนี้ (12 ตุลาคม 2559) ได้ลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจพืชผัก ผลไม้ ที่ได้การรับรองแหล่งผลิต Q-GAP ในห้างสรรพสินค้าโลตัส และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม ชึ่งเป็นแผนการสุ่มเพื่อสอบทวนในระบบรับรองปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าเกษตรที่ผลิตจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรมีแผนติดตามและสอบทวนระบบรับรองสินค้าเกษตรที่นำมาจำหน่าย ทั้งในตลาด และห้างสรรพสินค้า ให้มีความปลอดภัยจากสารตกค้าง สำหรับการลงพื้นที่ในการสุ่มตัวอย่างในห้างโมเดิร์นครั้งนี้ เป็นไปตามแผนการดำเนินงานปกติของกรมวิชาการเกษตร โดยจะเน้นสุ่มตรวจสินค้าเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะพืชผัก ผลไม้ อาทิ กระเพรา โหระพา พริก ถั่งฝักยาว เห็ดเข็มทอง ผักกวางตุ้ง ฯลฯ การสุ่มตรวจครั้งนี้จะสามารถรู้ผลได้ในอีก 1 สัปดาห์ นอกจากนี้กรมวิชาการตั้งเป้าไว้ในปี 2560 จะสุ่มตรวจสินค้าเกษตร ประมาณ 9,500 ตัวอย่าง โดยจะสุ่มตรวจในห้างสรรพสินค้า ประมาณ 1,600 ตัวอย่าง และติดตามสอบย้อนกลับไปยังแปลงปลูก ประมาณ 7,900 ตัวอย่าง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การลงพื้นที่ดังกล่าวต้องสร้างความมั่นใจในการจัดสุ่มการตรวจพืชผักดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคจะต้องดำเนินการตรวจสอบตามระบบโคเด็ก เบอร์ 33 หรือการไกด์ไลน์ในการเก็บสุ่มตัวอย่าง เพื่อส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าจำพวกพืชผักและผลไม้ จำนวน 30 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น สารพิษตกค้าง 20 ตัวอย่าง และจุลินทรีย์ จำนวน 10 ตัวอย่าง คาชดว่าจะสามารถรู้ผลได้ภายใน 1 สัปดาห์ หากพบมีสารตกค้างจะต้องดำเนินการตรวจสอบไปยังแปลงผัก ให้เกษตรกรดำเนินการแก้ไขทันที โดยเฉพาะการแก้ไขที่ตัวเกษตรกร และการแก้ไขปริมาณจากการใช้สารเคมีที่ใช้ นอกจากนี้การสุ่มตรวจแต่ละครั้ง กรมวิชาการเกษตร จะสุ่มตรวจจากการแจ้งเตือนจากประเทศคู่ค้า รวมทั้งพืชที่มีรายงานสารตกค้าง และพืชผัก ผลไม้ ในกลุ่มที่ตรวจสอบจากปีที่ผ่านมา อาทิ คะน้า กระเพรา โหระพา พริก ส้ม เป็นต้น นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามหลักสากล โดยมาตรฐาน GAP รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนมาตรฐาน Organic รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 2 มาตรฐานดังกล่าว จะตรวจสอบและประเมินอย่างละเอียดตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกร และการบันทึกข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้า และมีการตรวจติดตามโดยเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจประเมินแปลง GAP ทุกปี และเกษตรกรต้องยื่นขอรับการตรวจต่ออายุใบรับรองใหม่เมื่อใบรับรองเดิมใกล้หมดอายุ