วันที่ 4 ม.ค.66 ที่บริเวณชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเรื่อง การจัดการเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษมและการนำสายสื่อสารลงดินว่าปัจจุบันโครงการทั้งสองเรื่องกำลังอยู่ระหว่างทบทวนการดำเนินงานเพื่อความคุ้มทุนที่เสียไป โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม เลขที่สัญญา 22-5-63(สขส.) วงเงิน 106,200,000 บาท เริ่มงานเมื่อ30 พ.ค.63 - 16 ก.ย.65 โดยมีเรือไฟฟ้าจำนวน 8 ลำ 11 ท่าเรือ เดินเรือทุกวันไม่ต่ำกว่าวันละ 39 เที่ยว ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 14,000 คนต่อเดือน กทม.ต้องจ่ายค่าบริหารจัดการเดือนละ 2.4 ล้านบาท เฉลี่ยต้นทุนค่าโดยสารเที่ยวละ171 บาทต่อคน ทั้งนี้ ในปี 2566 กทม.มีโครงการพัฒนาการเดินเรือระยะที่ 2 ต่ออีก 5 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.66 - ก.ค.70 ด้วยวงเงิน 140.614 ล้านบาท

นายวิศณุ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้จะเปิดให้บริการเดินเรือโดยไม่เก็บค่าโดยสาร มีผู้ใช้เพียง 400 คนต่อวัน หากกทม.หันมาเก็บค่าโดยสารคนละ 10 บาท ก็จะมีรายได้ 4,000 บาทต่อวัน ขณะที่ กทม.ต้องจ่ายค่าเดินเรือเดือนละ 2.4 ล้านบาท หรือตกวันละ 80,000 บาทต่อวัน ยังไงก็ไม่คุ้มทุนกับค่าโดยสารที่เก็บได้ และค่าบริหารจัดการที่ต้องจ่ายไปดังนี้ จึงต้องทบทวนการจัดการรูปแบบใหม่ โดยกำลังพิจารณาการให้บริการ เช่น รถโดยสาร เปิดให้เอกชนเดินเรือนักท่องเที่ยวแทน สนับสนุนให้เป็นเรือท่องเที่ยว หรือหากไม่มีใครสนใจเข้ามาทำต่อ กทม.ก็พร้อมที่จะเดินเรือต่อไปแต่ต้องทบทวนการให้บริการเพื่อความคุ้มค่ามากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมขณะนี้ กทม.ยังไม่เปิดบริการเดินเรือเนื่องจากยังมีเวลาทบทวนถึงเดือนเมษายน 2566 ซึ่งจะเปิดเดินเรือระยะที่ 2 ด้วยวงเงินกว่า 140 ล้านบาท จึงต้องทบทวนให้รอบคอบเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ 1.การนำสายสื่อสารลงดิน ปัจจุบันทำไปแล้ว 62 กม. โดยมีเป้าหมาย 236.1 กม.ในปี 2570 2.การจัดระเบียบสายสื่อสาร ปัจจุบันทำไปแล้ว 161.56 กม.(37เส้นทาง) โดยมีเป้าหมายดำเนินการเพิ่ม 442.62 กม.ในปี 2566

นายวิศณุ กล่าวว่า ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ รูปแบบการก่อสร้างใช้เงินทุนสูงถึง 199,498,825.79 บาท ซึ่งไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินการได้ เนื่องจาก ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพียง 50 ล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึง สถาบันการเงินต้องการเห็นสัญญา MOU หรือสัญญาเช่าจากโอเปอเรเตอร์ ทั้งนี้ ยังไม่มีสภาพบังคับหรือกฎระเบียบที่ชัดเจนซึ่งกำหนดให้โอเปอเรเตอร์ต้องใช้ท่อร้อยสายของ KT ที่แน่นอน

จากสถานการณ์ทั้งโครงการการเดินเรือคลองผดุงฯและการนำสายไฟฟ้าลงดินตามที่กล่าวมา นายวิศณุ มองว่า การศึกษาความเป็นไปได้ก่อนเริ่มโครงการเป็นสิ่งสำคัญ ต้องดูให้ถี่ถ้วน ไม่ควรเชื่อเพียงตัวเลขจากการศึกษาความเป็นไปได้อย่างเดียว ซึ่งภาครัฐมีบทเรียนลักษณะนี้มาหลายโครงการ เนื่องจากมีการประเมินรายได้หรือผู้ใช้บริการล่วงหน้าไว้สูงมาก เมื่อลงทุนจริงมักพบว่ามีการใช้บริการต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งโครงการส่วนใหญ่พบว่ามีผู้ใช้บริการต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้แทบทั้งหมด ดังนั้น การประเมินล่วงหน้าจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การทดลองลงทุนนำร่อง เพื่อจะได้เริ่มใช้เงินจากน้อยไปมาก โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อตอกเสาเข็มไปแล้วไม่สามารถถอนได้ เงินจมไปแล้ว ไม่เหมือนกับโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ซึ่งหากผิดพลาดสามารถปรับเปลี่ยนโยกย้ายได้

นายวิศณุ กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ ที่ปรึกษาที่จ้างมาศึกษาความเป็นไปได้มีความรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไรเนื่องจากการคาดการณ์อยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐาน ซึ่งผู้ว่าจ้างที่ปรึกษาเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ อาจไม่ตรวจสอบสมมุติฐานว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ การคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าเพิ่มขึ้นเพราะอะไร เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก ต้องทำให้ถูก ถ้าเริ่มไม่ถูกแก้ยาก เพราะเงินจมไปแล้ว

นายวิศณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนเข้ามารับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่ๆ ตนเห็นแล้วว่ามีปัญหา เช่นโครงการท่อร้อยสาย กทม.ทำเริ่มแรกเกือบ 20 กม. พบว่าไม่มีรายได้กลับมา เนื่องจากเอกชนมองว่าราคาแพงเกินไปจึงหันไปใช้บริการผู้ประกอบการรายอื่นเพราะเป็นถนนเส้นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ ยอมรับว่าแก้ไขได้ยาก เพราะเอกชนให้ความสนใจผู้ประกอบการรายอื่นแล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งหมดที่กล่าวมา กทม.มีแผนดำเนินการต่อแน่นอน ไม่ยกเลิก แต่มีความจำเป็นต้องทบทวนให้รอบคอบที่สุดตามกรอบระยะเวลาที่มี