ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ระบุว่า...
ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BF.7 ชื่อดูไม่คุ้น พอชื่อแปลกๆทำให้เข้าใจต่อว่าจะต้องเป็นสายพันธุ์น่ากังวล ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ระบุว่า BF.7 คือ ไวรัส BA.5 เดิมที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง คือ Arginine ที่ตำแหน่ง 346 กลายเป็น Threonine (R346T) เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่พบในสายพันธุ์อื่นๆอย่าง BQ.1.1 หรือ XBB.1 จะเห็นว่า BF.7 มีจุดที่แตกต่างจาก BA.5 เดิมน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
หนึ่งตำแหน่งที่เปลี่ยนไปของ BF.7 มีผลไม่มากต่อคุณสมบัติของไวรัสในการหนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ข้อมูลคุณสมบัติของซีรั่มจากตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนเข็ม 4 มาแล้ว 1-3 เดือน สามารถยับยั้ง BF.7 ในระดับที่ใกล้เคียงกับ BA.5 แบบไม่แตกต่างกันมาก เมื่อเทียบกับไวรัสในกลุ่ม BA.275.2 หรือ XBB ถือว่า BF.7 ยังหนีภูมิสู้ไม่ได้ ภูมิจากวัคซีนแบบที่ไม่มีการติดเชื้อ BA.5 มา ยังพอต้าน BF.7 ได้พอสมควร คาดว่าคนที่ติด BA.5 มาแล้ว ภูมิจะสามารถป้องกัน BF.7 ได้ไม่น้อยกว่าที่ป้องกัน BA.5 ได้
สอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุว่าภูมิจากวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีส่วนของ BA.5 สามารถยับยั้ง BF.7 ได้ดี ยิ่งถ้าเคยติดเชื้อมาแล้วสามารถป้องกัน BF.7 ได้ในระดับ เกิน 1000 (วัดด้วยไวรัสตัวจริง) ซึ่งถือว่าสูงมากๆ
โดยสรุป BF.7 ไม่ได้แตกต่างจาก BA.5 จนเป็นที่น่ากังวลเหมือนสายพันธุ์อื่นๆที่กลายพันธุ์ไปเยอะแล้วที่กำลังครองพื้นที่ในหลายประเทศ