ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปสำรวจสุขภาพร่างกายของตัวเอง ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมาว่าที่ผ่านมาเราดูแลตัวเองดีมากน้อยเพียงใด ในห้วงเวลาแห่งการต่อสู้จากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 สุขภาพร่างกายเราแย่ลง อ่อนล้า ดีขึ้นอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค อะไรที่จะนำไปเป็นบทเรียนในการสู้กับภาวะโรคระบาดที่แม้ว่าคนไทยจะสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆอีกมากมายที่พร้อมจะทายทักเราในปี 2566 นี้ แล้วอะไรคือเป้าหมายในการพิชิตสุขภาพดีรับปีกระต่าย

ทั้งนี้ในมุมมองด้านสุขภาพของหน่วยงานขนาดใหญ่ระดับประเทศอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชวน “จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย” หรือ ‘ThaiHealth Watch 2023 : สังคมปรับ ชีวิตเปลี่ยน’ ซึ่งได้รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล โดยบูรณาการร่วมงานกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และแนวโน้มสุขภาพต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า พร้อมพา “ส่อง 7 เทรนด์สุขภาพคนไทยปี 2566” เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทย

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เผยว่า ที่ผ่านมา สสส.มุ่งสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ พร้อมจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย เพื่อให้ข้อมูล และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ ภายใต้แนวคิด สังคมปรับ ชีวิตเปลี่ยน เพื่อทุกคนเดินหน้าเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ปรับตัวพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในสังคมอย่างเข้าใจและเท่าทัน นำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน

การทำงานรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาวะในปี 2565 เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของคนไทยในปี 2566 ได้อย่างครอบคลุม เพื่อช่วยในการรับมือเทรนด์สุขภาพใหม่ที่กำลังมา อะไรที่มีความคืบหน้าและต้องจับตามอง เพื่อทำให้ชีวิตคนไทยด้านสุขภาวะในปีหน้าดีขึ้น

ประเด็นแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “ลองโควิด” ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทั่วโลกกำลังหาทางรับมือ เพราะเมื่อไวรัสตัวร้ายนี้จากไป แต่ก็ได้ทิ้งบางสิ่งไว้เป็นของฝาก และที่ผ่านมาไทยพบผู้ป่วยกว่า 50% ที่เกิดภาวะลองโควิด ที่เกิดผลกระทบทางสุขภาพกับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งอาการทางระบบประสาท อาการทางร่างกาย และอาการทางจิตใจ และ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะลองโควิด ส่งผลกระทบทางจิตใจ คือ “โรคซึมเศร้า” พบกว่า 35,000 คนเข้ารับการรักษาจากการประเมินผ่านแอปพลิเคชัน DMIND เสี่ยงซึมเศร้าสูงถึง 89.3% ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับผลต่อสุขภาพจิตที่กระทบในการใช้ชีวิตในระยะยาวได้

สองคือ Climate change ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ ควันพิษเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสภาพภูมิอากาศ และยังก่ออันตรายแก่ชีวิตมนุษย์ ซึ่งพบว่ากว่า 99% คนบนโลกนี้ต้องสูดอากาศที่มีมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ไนโตรเจนไดออกไซด์ ในระดับที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าล้านคนต่อปี รวมถึงวิกฤตโลกร้อน สหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าอีก 80 ปี ทั่วโลกจะเผชิญภาวะความเครียดจากความร้อนที่กระทบต่อร่างกายในทุกมิติ อากาศที่ร้อนขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น สมองบวม ปัญหาไต ปอดทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ผิวหนังซีด สสส.จึงสานพลังภาคีเครื่อข่าย เตรียมร่างกาย เตรียมความรู้ เตรียมจิตใจ นำร่อง “ปทุมวันโมเดล” ต้นแบบเมืองมลพิษต่ำ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด

สามคือ ภาวะหมดไฟที่ลุกลาม เราจะรับมืออย่างไรให้สุขทั้งองค์กรและคนทำงาน เพราะเกิดรูปแบบการทำงานแบบลูกผสม Hybrid Working ขึ้นแล้วซึ่งพบว่า 76% ของพนักงานบริษัทมีความเหงาที่ส่งผลต่อจิตใจ เกิดเป็นกระแสการลาออกครั้งใหญ่ในระบบอุตสาหกรรม เนื่องจากติดใจการทำงานแบบทางไกล ไม่อยากกลับไปที่ออฟฟิศอีก ทำให้ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในลักษณะก่อนการระบาดของโรคได้อีกครั้ง เกิดการทบทวนลำดับความสำคัญและคุณค่าของการทำงาน ความสัมพันธ์ของคนทำงานเริ่มห่างขึ้น จนนำมาสู่การเกิด “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ความท้าทายคือ จะรับมืออย่างไรให้มีความสุขทั้งองค์กรและคนทำงาน

สี่คือ ในปี 2566 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์  จะมีผู้สูงอายุในประเทศไทยราวๆ 20.6% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนับเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ และในอีก 5 ปี จะมีผู้สูงอายุติดเตียงกว่า 2 แสนคน ติดบ้านอีกกว่า 3.5 แสนคน  และในทางกลับกันจะพบผู้สูงอายุกว่า 60% ไม่มีความพร้อมด้านการเงิน ต้องเร่งสร้างเสริมสุขภาวะทุกมิติ ทั้งการเงิน ที่อยู่อาศัย การดูแล เพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยเกษียณที่มีคุณภาพ ค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุ 1 คน ต้องมีเงินราวๆ 3 ล้านบาท แต่ประเทศไทยพบว่าวัยเกษียณไม่มีความพร้อมด้านการเงิน ทั้งนี้ สสส.ร่วมมือกับ สปสช.ส่งเสริม “ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ” ในระดับชุมชน

ห้าคือ เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่อง “กัญชา” ในทุกมิติภายหลังที่ประเทศไทยได้ปลดล็อก “กัญชา” แล้วแต่สิ่งที่เราต้องเผชิญคือ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ เข้าถึงกัญชาไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หลายคนได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกวิธี โดยพบ32% ผู้ใช้มีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา ผ่านอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค แต่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ว่า กัญชามีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาวะ เมื่อประเทศไทยปลดล็อก “กัญชา” แล้ว แต่ความรู้ ความเข้าใจที่เหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเปราะบาง เพราะหากใช้เกินขนาดจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท อาจไปกดประสาทการเกร็งของร่างกาย หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน สูญเสียการทรงตัว อาจล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะแม้ว่าปัจจุบันกัญชาได้เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นพืชเศรษฐกิจแต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในกลุ่มเด็กและเยาวชน

หกคือ บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้น ต้นเหตุจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทำให้เด็กและเยาวชน ตกเป็นเหยื่อคนสำคัญของพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีเด็กและเยาวชน ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อออนไลน์ เฉลี่ย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และเกิดการเข้าใจผิดในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเลยถึง 6.8 เท่า จึงจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดป้องกันการเพิ่มจำนวนของนักสูบหน้าใหม่

และสุดท้าย มิติใหม่แห่งการสร้างเสริมสุขภาพคนไทยในยุคดิจิทัล นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันเราจะพบว่าพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากขึ้น โดยเฉพาะโลกในยุคโควิด-19 ที่ทั่วโลกปรับระบบการสื่อสารถึงกันและกันในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น จะเห็นได้จากพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2565 ระบุกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยมของคนไทย 86.16% คือการจองคิว ปรึกษาแพทย์ ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เข้าถึงง่าย ช่วยในการติดต่อสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ได้ดีมากขึ้น ในปีถัดไปเราจะยกระดับสุขภาพด้วย Digital Health Technology

“ย้ำว่าทุกมิติเรื่องสุขภาพนั้น สสส.คงไม่สามารถขับเคลื่อนได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องร่วมพลังกับภาคีเครื่อข่ายทั่วประเทศในประเด็นต่างๆ และร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนไทย เพราะชีวิตที่ดีไม่ใช่การมีชีวิตที่ยืนยาว แต่คือการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน” นางเบญจมาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย