วันที่ 29 ธ.ค.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจรสำนักเทศกิจว่า ปัจจุบัน กทม.มีเจ้าหน้าที่เทศกิจประมาณ 3,000 คน มีภารกิจครอบคลุมทั้งเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ความปลอดภัยบนท้องถนนและโรงเรียนต่างๆ รวมถึงการจับปรับการปล่อยมลพิษและควันดำ โดยรวมแล้วสำนักเทศกิจมีภารกิจในการควบคุมดูแลปัญหาของเมือง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับรายงานจากสำนักเทศกิจคือเรื่องหาบเร่แผงลอยซึ่งมีความเปราะบางเกี่ยวเนื่องกับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม กทม.จำเป็นต้องให้ความสำคัญทางเท้าและดูแลผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปพร้อมกัน โดยการจัดเตรียมจุดผ่อนผันสำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไว้ 95 จุด และกำชับให้มีการดูแลอย่างเข้มข้นโดยการนำกล้องวงจรปิดมาช่วยตรวจจับผู้ค้าที่มีการรุกล้ำพื้นที่ที่กำหนด สำหรับผู้ค้าในจุดผ่อนผันจะต้องลงทะเบียนเพื่อรับคิวอาร์ โค้ด เพื่อยืนยันตัวตน ปัจจุบันเริ่มใช้ไปแล้ว 6 เขต และมีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยไปแล้ว เช่น ซอยรางน้ำ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการกำหนดรูปแบบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งต้องดำเนินการต่อเนื่องโดยเฉพาะถนนหลักของ กทม.ทั้ง 9 สาย ซึ่งมีแผนส่งเสริมให้เป็นถนนสวยงามรองรับนักท่องเที่ยวและธุรกิจ เช่น ถนนสุขุมวิท เป็นต้น
อีกปัญหาที่พบ คือ การตั้งจุดเรียกรับเงินรถแท็กซี่ รถสามล้อ ที่มาจอดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงพบว่ามีการเรียกเก็บเงินค่าโดยสารเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่ง กทม.ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับการดูแล โดยเริ่มนำร่องและเร่งรัดการจัดระเบียบบนถนนย่านต่างๆ เช่น สะพานควาย จตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว รัชดา ห้วยขวาง บริเวณวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ ราชประสงค์ เพชรบุรี เพลินจิต ทองหล่อ สาทร สีลม พระราม4 และแยกคลองเตย
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาขับขี่บนทางเท้า รถพ่วงข้างและรถขายอาหารบนผิวถนนซึ่งก่อเกิดปัญหามากกว่าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบควบคุมดูแลจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องปากท้องของผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากหลายรายจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะในการทำมาหากิน เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น กทม.ต้องดูแลทั้งเรื่องระเบียบวินัยและเรื่องปากท้องควบคู่กัน โดยหาบเร่แผงลอยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อค้าขายในจุดผ่อนผันที่ กทม.จัดเตรียมไว้ให้ ส่วนผู้ค้านอกเหนือพื้นที่จะมีการจับปรับตามกฎหมาย รวมถึงมีรางวัลนำจับ 50% ของค่าปรับสำหรับผู้แจ้งเบาะแส
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เรียกรับเงินหรือรีดไถ่ชาวบ้าน หากพบ กทม.ดำเนินการไล่ออกทันที เพราะไม่มีนโยบายเอาเปรียบประชาชนที่มีรายได้น้อย ทำมาหากินลำบาก หากประชาชนพบการกระทำความผิด หรือถูกเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ของ กทม.สามารถแจ้งมาที่ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งมีช่องทางสำหรับแจ้งเรื่องทุจริต หากพบมูลความจริง ตนขอยืนยันเอาจริงเอาจังเรื่องนี้แน่นอนที่ผ่านมามีการโดนสอบสวนไปแล้วตามขั้นตอน ถ้าพิสูจน์ว่ามีควมผิดจริง เราไม่เอาไว้แน่ ตรงนี้เป็นเชื้อเล็กๆ ที่อันตรายได้ในอนาคต ถ้ามีใครทราบเบาะแสสามารถแจ้งเข้ามาได้ครับ