สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
สำหรับ “เหรียญหมู” สำคัญที่เล่นหากัน และเรียกได้ว่าแพงนั้น ได้จัดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้สร้างเหรียญที่ระลึกในการเฉลิมพระชนม์ในปี พ.ศ.2456 มีทั้ง เนื้อทองคำลงยา เนื้อเงินลงยา, เนื้อทองคำไม่ลงยา และ เนื้อเงินไม่ลงยา
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2406 เบญจศก จุลศักราช 1225 ที่มาแห่งความสำคัญของสัญลักษณ์พิเศษนี้ คือ ทรงประสูติในปีกุน (หมู) ณ พระตำหนักใหญ่ ในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 66 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระธิดาองค์ที่ 4 ของเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งทรงมีพระโอรสธิดารวม 6 องค์ คือ-พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอันตนชัย -กรมพระยาเทววงศ์วโรปกรณ์ -พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์(พระนางเรือล่ม)-สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี –พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์
อันพระจอมเกล้าฯ นั้น มีชื่อเลื่องลือทางโหราศาสตร์ และประทานพรตามดวงเกิดสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี จนกลายเป็นสตรีที่ได้รับพระยศยิ่งใหญ่สูงสุดเหนือสตรีใดเมื่อดูแลสำเร็จราชการ ในพระนาม ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ’ ในคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ2440 และยังทรงมีพระราชกุมาร-พระราชกุมารี ถึง 14 องค์ ทรงเถลิงราชย์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ถึง 2 องค์ด้วยกัน ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช
ต่อมาแม้พระชนม์จะมากก็มีผู้อภิบาลและทูลเกล้าฯ ถวายโดยข้าราชการที่ร่วมเป็นสหชาติ (เกิดพร้อมพระองค์) ในคราวที่ทรงมีพระชนมพรรษาได้ 50 พรรษา แต่ท่านทรงเห็นว่าจะยุ่งยากไปจึงไม่รับ ทำให้ต้องคิดสิ่งอันเป็นประโยชน์เพื่อให้ทรงรับ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒ (เศเลสติโน ซาเวียร์) และพระราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งได้ร่วมกันคิดสร้าง ‘ก๊อกน้ำประปา’ ถวาย และสร้าง ‘อนุสาวรีย์รูปหมู’ ไว้ด้านข้างเป็นที่ระลึกด้วย มีข้อความจารึกว่า "เหตุที่สร้างรูปหมูขึ้นประดิษฐานก็เพราะเพื่อถวายเทิดพระเกียรติ ปีพระสหชาติปีกุน โดยราชวงศ์ปีกุนร่วมจัดสร้างถวาย" และเป็นที่น่าแปลกกล่าวคือ สมเด็จพระพันปีหลวงมิได้ทรงโปรดเลี้ยงสัตว์อื่นใดเลยนอกจาก ‘หมู’ ที่เรียกว่า ‘หมูเสาวภา’ เพียงตัวเดียว ซึ่งเป็นตัวเมีย เป็นพันธุ์ฝรั่งตัวใหญ่มีผู้ถวายคราวงานเฉลิมพระชนมพรรษา มีผิวสีชมพูอ่อนสะอาดสะอ้าน (สีเหมือนเหรียญหมู) ขนขาวเป็นมันทั้งตัว ตาสีฟ้าอ่อน หูเป็นกลีบตั้ง ขนขาวปุกปุย ทรงให้เจ้าหน้าที่เลี้ยงไว้ทางประตูดินหลังพระบรมมหาราชวัง พระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีเป็นค่าอาหารและกำหนดมิให้ผู้ใดมาทำหยามหยาบและกระทำอันตราย
ต่อมาก๊อกน้ำถูกรื้อทิ้งเหลือเพียง ‘อนุสาวรีย์หมู’ อยู่บริเวณถนนราชินี หลังกระทรวงมหาดไทยมีคลองหลอดคั่น
สำหรับ “เหรียญหมู” สำคัญที่เล่นหากัน และเรียกได้ว่าแพงนั้น ได้จัดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงสนิทเสน่หาในฐานะพระราชมารดาอย่างยิ่ง เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา จึงโปรดฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกในการเฉลิมพระชนมพรรษาในปี พ.ศ.2456 มีทั้ง เนื้อทองคำลงยา (ผู้เขียนเคยเห็นเหรียญจริงรูปหมูตัวเดียวเจ้าของตีเกือบล้าน), เนื้อเงินลงยา, เนื้อทองคำไม่ลงยา และ เนื้อเงินไม่ลงยา ลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 27 มม.ขอบเรียบคล้องห่วง ด้านหน้า ทำเป็นรูปหมู มีทั้งผิวออกชมพูอ่อน สีขาว และสีชมพูแก่ ลงยาอย่างประณีต โดยมีทั้งแบบหมูตัวเดียวและสองตัว ยืนบนฐาน หันข้างไปทางซ้ายของเหรียญ บางตัวเห็นเขี้ยว ริมขอบมีความว่า "ปีกุน พ.ศ.๕๖ ของสิ่งเป็นที่รฤก" ด้านล่างจารึก "ว่าล่วงมาครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์"
ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญเป็นรูปจักรี มีข้อความว่า "ขอเชิญท่านจงจำรูปหมูนี้ คือ เสาวภา ซึ่งอุบัติมาเป็นเพื่อน" บรรทัดต่อมาด้านล่างจารึก "ร่วมชาติภพ อันมีใจหวังดีต่อท่านเสมอ” ทำเป็นแพรแถบแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามสมัยนิยม เข้าใจว่าคงสั่งทำจากต่างประเทศเพราะฝีมือประณีตมาก
อันหมูที่เป็นคู่และข้อความนั้นคงจะอัญเชิญพระกระแสรับสั่งของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 สังเกตได้ว่าหากเป็น ‘หมูคู่’ ด้านหลังจะมีข้อความที่ทรงสนิทเสน่หาว่า “อย่าลืมดูรูปหมูคู่นี้ คือ เสาวภา แลท่านที่ได้อุบัติมาร่วมปีร่วมชาติซึ่งน่าจะหวังดีต่อกันเสมอ" ครับผม