ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ขณะหนึ่งของชีวิต...นับเป็นคุณค่าต่อการรับรู้อันสมบูรณ์..มันคือประกายใจที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสรู้อันล้ำลึก...งดงามและมีค่าต่อจิตวิญญาณของการมีชีวิตอยู่...เติบโตสู่ศักยภาพเพียงหนึ่งเดียวระหว่างกัน...นั่นคือการค้นพบอันอัศจรรย์ ที่ชีวิตในแต่ละชีวิตจะได้ประจักษ์เห็น โดยแท้จริง...”

นี่คือ..สาระอันงดงามที่ปรากฏอยู่ในหนังสืออันมีค่า Ichigo Ichie...ละเลียดปัจจุบัน ดื่มด่ำชีวิต ผลงานเขียนของ “เอ็กเตอร์ การ์เซีย”(Hector Garcia) ผู้เขียนหนังสือ “อิคิไก” อันเป็นคุณประโยชน์/โดยเขียนร่วมกับ “ฟรานเซส มีราเยส” (Frances Miralles)...และ แปลเป็นภาษาไทย โดย “พลอยแสง เอกญาติ”

ว่ากันว่า... “ทุกช่วงเวลาในชีวิตเราเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว...หากปล่อยให้ผ่านไป เราก็จะสูญเสียมันไปตลอดกาล...” นี่คือความหมายของคำว่า.. “อิชิโกะ อิชิเอะ” ...ซึ่งคนญี่ปุ่นใช้กล่าวทักทายหรือบอกลาต่อกันและกัน..เพื่อสื่อถึงว่า...การพบเจอกันนั้นเป็นสิ่งพิเศษ...คำๆนี้ยังเป็นแก่นของศาสนาพุทธนิกายเซน...และหัวใจในพิธีชงชาแบบญี่ปุ่น...

และ...หากเราเรียนรู้วิธีอยู่กับปัจจุบัน รับรู้ว่าสิ่งใดที่เราสนใจ และ สร้างความตื่นเต้นให้เรา..ในชั่วขณะนั้น..เราก็จะพบว่าสิ่งใด คือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและมอบความสุขให้แก่เรา...มากที่สุด...

หนังสือเล่มนี้...ได้พาเราให้ได้เข้าไปหาความหมายและความสำคัญถึงปรัชญาแขนงนี้  รวมทั้ง ปรัชญาอีกหลายแนวคิด ที่ชวนศึกษาและค้นหาอย่างละเอียดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อิคิไก วะบิซะบิ หรือ คินสึงิ...อีกทั้งยังได้ฝึกฝนศิลปะแห่งการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อดื่มด่ำชีวิตอย่างเต็มที่...และเปลี่ยนทุกช่วงขณะให้เป็นช่วงเวลาพิเศษ...เหตุนี้.. “การละเลียดปัจจุบัน ดื่มด่ำชีวิต"จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง...ในแต่ละวินาทีที่ผันผ่าน...แห่งความเป็นชีวิตของเรา”

หนังสือเล่มนี้...แบ่งบทตอนออกเป็น... “ในร้านชาเก่าแก่” ...บทนำที่แสดงถึง..ความงามของความไม่จีรัง การเข้าถึงเซน เเละ ชีวิตเราควรอยู่ตรงไหน..

*ใช้ชีวิตแบบอิชิโกะ อิชิเอะ...ซึ่งแสดงรายละเอียดถึง...พิธีที่ต้องใส่ใจ...ศาสตร์แห่งการฟัง..รวมทั้ง ศาสตร์แห่งการมอง...

*ในบทตอนสุดท้าย...จะให้การสรุปถึง...ศาสตร์แห่งงานเลี้ยง ...การเจริญสติร่วม..และวิธีที่จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน...ทุกส่วน..ล้วนก่อประโยชน์ทางปัญญาที่เอื้อคุณค่าถึงกันอย่างหนักแน่นและเปี่ยมเต็มไปด้วยวิถีแห่งสัจจะ..

“...ทุกช่วงเวลาในชีวิตเรา...เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว...หากปล่อยผ่านไป...เราจะสูญเสียมันไปตลอดกาล.../...สิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวด...ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป.../และ...สุขเป็นสิ่งเดียวที่อยู่กับปัจจุบัน”

... “วลีอิชิโกะ อิชิเอะ”... เป็นวลีอันมีค่าของชาวญี่ปุ่น ที่หมายความถึง “การได้พบกันเพียงครั้งเดียว” ...ต้นกำเนิดของคำๆนี้มาจากพิธีชงชาของนิกายเซน..เนื่องจาก การได้พบกับใครสักคนหนึ่งในพิธีชงชา...ถือเป็นโอกาสที่ทั้งพิเศษและวิเศษ...เป็นการพบกันครั้งเดียว...ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลยก็เป็นได้..ดังนั้นโอกาสที่ได้พบกัน...มันจึงเป็นเวลาที่มีค่ามากที่สุด...ต่อมาปรัชญาความคิดนี้ ถูกตีความและนำมาปรับใช้เป็นปรัชญาชีวิต...โดยเฉพาะในการทำงาน ต่อประเด็นที่ว่า... “เราควรปฏิบัติและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี แก่คนที่เราได้พบเจอ..อย่างดีสุด  เพราะมันอาจเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่..จะได้พบกัน...”

หลักการเเห่งปรัชญานี้...เปรียบเสมือนการทำให้เราลดระดับความเร็ว...ความเร่งรีบของการใช้ชีวิต...โดยเน้นย้ำให้จดจำถึง...ทุกช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตกับบุตรหลาน  หรือกับคนที่เรารักว่า...มันมีคุณค่าเหลือเกิน..มันเป็นสิ่งที่สมควรให้ความสำคัญ...

การฝึกฝนตำรับแห่งปรัชญานี้...จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น...โดยไม่ต้องไปรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอดีตและอนาคต...รวมทั้งเราก็จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างเต็มที่...ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะมีส่วนเปลี่ยนเรา...ให้เป็นคนที่ยอมรับและเห็นความสำคัญของทุกช่วงเวลานาที...

*จงอยู่กับปัจจุบัน...นี่คือหลักการแห่งข้อสรุปทั้งหมดของวิชานี้..ในบทเริ่มต้นที่สมควรสนองรับ..ต่อการเรียนรู้ชีวิตอันน่าใคร่ครวญ..เนื่องเพราะ... การหวนกลับไปหาอดีตและคิดมากเรื่องอนาคต..มักทำให้เราเจ็บปวดและเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์...แท้จริงแล้ว..เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องที่เกิดขึ้นได้...และเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า..จะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง...แต่สำหรับที่นี่..ที่ตรงนี้ ณ ตรงจุดที่เรายืนอยู่..ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า...ทุกสิ่งกำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปจริงๆ..

*ใช้สติกับประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา..ผ่านการฝึกฝนตนเองในแง่ของศิลปะแห่งการฟัง การดู การมาสัมผัส การชิม และ การดมกลิ่น...ทั้งนี้..เพื่อให้ทุกช่วงเวลาอันมีค่า..ทำให้เราตื่นตัวต่อผู้อื่น..มากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มระดับความใส่ใจ..และการให้ความสำคัญมากขึ้นด้วย...

*ลงมือทำสิ่งที่คุณไม่เคยทำมาก่อนเลย..แท้จริงแล้ว...เราไม่สามารถทำสิ่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า..เพื่อคาดหมายผลลัพธ์ที่แตกต่างได้..แต่ยังมีวิธีหนึ่ง...ที่สามารถทำให้เราประสบผลสำเร็จได้อีก...นั่นก็คือ “การมอบอะไรใหม่ๆให้กับชีวิตของตัวเองดู”

*หากไม่ชอบสิ่งไหน ก็จงทำสิ่งที่แตกต่าง..นั่นเพราะว่า...มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ และมีพลังที่จะสร้างตัวเองใหม่...ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ...และ หากรู้สึกว่า ความจริงในชีวิตของเราน่าเบื่อเกินไป..ก็จงใช้หลักการของปรัชญานี้...เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างอะไรใหม่ๆขึ้นมาอีกครั้ง...

*เป็นนักล่าในโอกาสพิเศษ... กิจกรรมใดๆก็ตาม..ยิ่งมีการฝึกฝนมากขึ้นเท่าไหร่..ผลลัพธ์ก็ยิ่งจะดียิ่งขึ้นเท่านั้น...

*อย่าผลัดหรือเลื่อนเวลาพิเศษอันแสนสำคัญ... เพราะแต่ละโอกาสที่เกิดขึ้นมีเพียงแค่ครั้งเดียว..หากเราไม่รับมันไว้...มันก็จะเลือนหายไปตลอดกาล..ซึ่งบางครั้ง"ชีวิตก็คือ การตั้งคำถาม"ว่าตัวเรา..จะลงมือทำตอนนี้...หรือจะไม่ทำเลยดีกว่าล่ะ?

*ใช้ชีวิตเสมือนว่าสิ่งนี้...จะเกิดขึ้นแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น.. นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นทุกบ้าน..มีวัฒนธรรมทั้งการต้อนรับและการจากลา โดยใช้หลักการของวิชานี้เป็นต้นแบบ เพื่อทำให้เราตระหนักถึงการได้พบกันเพียงครั้งเดียว และอาจไม่ได้พบกันอีกเลยก็เป็นได้

*ไปให้สุดทุกปาร์ตี้... โดยอย่ามัวรอเวลาหรือสถานการณ์ที่เป็นใจ เช่น การจัดทริป วันหยุดพักผ่อน หรือ การฉลองวันเกิด ที่ทำให้เราได้สัมผัสสิ่งพิเศษ แต่..จงออกจากกรอบความคิดเดิมๆ...เพราะทุกๆวันเราสามารถเฉลิมฉลองได้..โดยไม่มีข้อแม้...

*ฝึกนั่งสมาธิ..เราสามารถนั่งลงเฉยๆบนเบาะเพื่อทำสมาธิ หรือ ใช้สติในการพิจารณาความเป็นไปต่างๆของชีวิตได้..ซึ่งถือเป็นความจริงง่ายๆของการหลีกหนีจากความรีบเร่ง และ อาจทำให้เรา.. “รู้สึกสงบ” ขึ้นมากทีเดียว..

นี่คือหนังสือ..ที่สร้างกระบวนการไตร่ตรองให้แก่ชีวิตอย่างเรียบง่ายและเป็นเอกภาพ..ขอเพียงได้มีการเรียนรู้และรู้สึก ชีวิตก็จะได้รับรู้แบบแผนและนัยของกาลเวลาที่แสดงภาพลักษณ์ออกมาในท่วงทำนองว่า..ยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น..ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน มันอาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยี..ที่มีส่วนช่วยให้เราทำหลายอย่างได้สะดวกฉับไวขึ้น จนมีอยู่หลายครั้งที่เราเผลอไปเสพความคิดอันรวดเร็วนั้น..ที่สามารถเสกสรรให้เราเป็นและมีได้ดั่งใจ..อย่างรวดเร็วฉับไว บางทีก็สามารถทำให้เราหาความพึงพอใจใหม่ไม่รู้จบ...โดยไม่ได้ซาบซึ้งหรือดื่มด่ำกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

หนังสือเล่มนี้...จึงคือการขับเน้นแนวคิดในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นออกมาสู่โลกทั้ง ความหมายแห่งความเป็นสามัญ และ ความเป็น ศาสตร์แห่งปรัชญาชีวิตอันล้ำลึก...ดั่งที่ได้..แสดงผลลัพธ์ในทุกสิ่งออกมาข้างต้น..

หากรู้ตัวว่า..กำลังวิ่งตามความสุขอยู่ตลอดเวลา...เพื่อให้ได้มาถึงสิ่งที่ต้องการอันไม่รู้จบ..บางทียารักษา ความสุขแบบฉาบฉวยนั้นอาจเป็น “อิชิโกะ อิชิเอะ” “....”