เรื่อง : มนสิชา ธิติธรรม
หมายเหตุ : “สยามรัฐ” สัมภาษณ์พิเศษ “ไตรศุลี ไตรสรณกุล” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการทำหน้าที่ “กระบอกเสียงรัฐบาล” ในจังหวะที่บรรยากาศทางการเมืองเริ่มเข้มข้น เมื่อเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้งในปีหน้า 2566 ดังนั้นในฐานะ “ทีมโฆษกรัฐบาล” จะมีเงื่อนไข ข้อจำกัดในการทำงานหรือไม่ และอย่างไร
- มองย้อนกลับไปตลอดการทำหน้าที่ทีมโฆษกรัฐบาลที่ผ่านมา “จุดแข็ง” คืออะไร
จุดแข็งของเราคือการทำงานเป็นทีม ถึงแม้ว่าเราจะมาจากหลายพรรคการเมือง แต่ละคนไม่ได้มองว่าเรามาจากพรรคการเมืองนั้นพรรคการเมืองนี้ เราทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ทำงานในฐานะที่เราเป็นรองโฆษกรัฐบาล สิ่งที่เราต้องยึดคือประชาชนควรที่จะรู้อะไร หรืออะไรที่มีความจำเป็นกับประชาชน เราไม่อยากลงไปต่อว่าหรือด่ากันทางการเมือง เพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ทำไมไม่ทำงาน เอาแต่ด่ากัน
ด้านนายกรัฐมนตรีเอง ก็ไม่ได้กีดกัน หรือเห็นว่าเรามาจากพรรคการเมืองอื่นแล้วจะไม่ให้ข้อมูล เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง นายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลทุกอย่างเท่ากันหมด รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เมื่อมีข้อสงสัย มีใครถามอะไร รัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูลทุกอย่าง จึงทำให้ทำงานง่าย มีข้อมูลมาก และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
- การทำงานของทีมโฆษกรัฐบาลจากนี้ ในช่วงที่เข้าสู่การเลือกตั้ง จะเน้นไปที่การเปิดผลงานรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่
ต้องเน้น เพราะเราเดินมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว แต่สิ่งที่เราทำไม่ใช่การเตรียมเพื่อจะเลือกตั้ง หรือเพื่อการแข่งขันทางการเมือง ส่วนตัวมองว่าการแข่งขันในการเลือกตั้ง ต้องเป็นหน้าที่ของโฆษกพรรค หรือพรรคการเมือง เพื่อที่จะต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบ และเพื่อการได้เปรียบในทางการเมือง ตอนนี้เรายังอยู่ในนามของโฆษกรัฐบาล เราต้องดูที่ภาพรวม ช่วยกันทุกพรรค เป็นหน้าที่ที่โฆษกรัฐบาลจะต้องทำเหมือนเดิม
แต่หากถามว่า จะมีการเปิดผลงานรัฐบาลหรือไม่ แน่นอนว่าจะต้องเปิดอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราก็ทำอยู่ สอดแทรกไปกับการให้ข่าวอื่น เราต้องตอบปัญหาประชาชนให้ได้ ว่าที่ผ่านมาพวกเราในฐานะที่เป็นที่รัฐบาลทำอะไรบ้าง มีผลงานอะไรบ้าง และที่สำคัญ เราต้องมองว่าสิ่งที่เราทำนั้น อาจจะไม่ผลิดอกออกผลในเวลานี้ และต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าหลาย ๆ สิ่งที่เราทำ จะไม่ได้ปรากฏผลในตอนนี้ แต่อาจจะเกิดผลขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้น ทั้งอนาคต ปัจจุบัน และอดีต สามส่วนนี้ คือสิ่งที่เราต้องเร่งประชาสัมพันธ์
- การทำงานในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล จะมีปรับกลยุทธ์ในการทำงานหรือไม่ อย่างไรบ้าง
ทางทีมยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ว่าจะต้องปรับกลยุทธ์อะไรเพิ่มเป็นพิเศษหรือไม่ ยังคงทำงานเหมือนเดิม เน้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนตามเดิม แต่อาจจะต้องปรับและระมัดระวังในคำพูด หรือข้อมูลทางกฎหมายมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแล้ว เราต้องดูว่าสิ่งใดทำได้ หรือทำไม่ได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อผู้ที่ต้องลงสมัครเลือกตั้งต่อ เราจึงต้องดูว่าหากพูดอย่างนี้แล้ว จะส่งผลอะไรหรือไม่ ในทางกฎหมายหรือไม่ และอย่างไร
- หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ทีมโฆษก ไม่เน้นการตอบโต้ประเด็นทางการเมือง จุดนี้ถือเป็น "จุดอ่อน" หรือไม่ และจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรไหม
เราไม่ได้ไปตอบโต้ในลักษณะที่ด่ากัน หรือใช้วาทกรรมทางการเมือง ตอบในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนตัวคิดว่ามีการตอบโต้ แต่เราตอบโต้โดยการใช้ข้อมูล
เราไม่ได้ออกมาด่าตรง ๆ ถ้าเรื่องใดมีประโยชน์และสามารถนำมาปรับใช้ได้ เราจะนำมาปรับใช้ แต่ถ้าเรื่องใดเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด เราก็ออกมาพูด แต่เราไม่ได้ด่าเขา ว่าสิ่งที่เขาพูดมันผิด เพียงแต่เป็นการนำข้อมูลมาชี้แจง ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ใช่แบบนั้น เป็นการอธิบายมากกว่า แล้วแต่สไตล์ใคร สไตล์มัน รองโฆษก บางคนมีการออกมาตอบโต้ทางการเมือง เรามองว่ามีคนทำงานในจุดนี้อยู่
เรื่องใดที่เมื่อพูดไปแล้ว เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราก็จำเป็นต้องพูด แต่ถ้าเรื่องใดที่พูดไปแล้ว สร้างความแตกแยกทางสังคม หรือเป็นการต่อว่ากันไปกันมา เราเลือกที่จะไม่พูด ในยุคที่มีข้อมูลมากมาย ใครก็สามารถพูดได้ ทุกคนมีสื่อในมือ แค่พิมพ์หรือโพสต์อะไรก็เป็นข่าว เราจะไปตอบโต้ทุกเรื่อง คงจะเป็นไปไม่ได้ เราจึงเลือกที่จะใช้การชี้แจงมากกว่าใช้การตอบโต้
- เรื่องใดบ้างที่เลือกจะตอบโต้ และมีการเตรียมการอย่างไร
เราต้องดูก่อนว่าคนที่ออกมาพูดคือใคร จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องไปตอบคำถามเขา ยิ่งเราไปสนใจเขา มากเท่าใดจะยิ่งดีใจหรือไม่ ต้องมีการวิเคราะห์ก่อน ไม่ใช่ว่าเมื่อมีใครด่ามา เราจะตอบหมด ไม่ถึงขนาดนั้น บางอย่างที่เราเป็นคนแถลงเอง กลับมีคนออกมาพูดในสิ่งที่มั่วมาก ๆ นั้น และสื่อกระแสหลักยังให้ความสำคัญอยู่ เราก็อาจจะต้องลงไปเล่นบ้าง
แต่ถ้าเป็นพวกหิวแสง เราก็จะไม่เข้าไปยุ่ง ปล่อยเขาพูดไป ยิ่งเราไปเล่นด้วยเขาจะยิ่งดีใจ ต้องดูว่าคนไหนตอบได้หรือตอบไม่ได้
ในกรณีข้อมูลที่ผิดพลาด ที่ประชาชนชนต้องรู้ เราต้องรีบชี้แจง และให้ข้อมูลที่แท้จริง ยกเหตุผลมาอธิบาย ว่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ในการตอบโต้บางทีที่ใช้วาทกรรมทางการเมือง นอกจากจะไม่ใช่การอธิบายแล้ว จะเป็นการไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมได้อีก ไม่อยากให้กลายเป็นการด่ากันไปกันมา เป็นการอธิบายด้วยเหตุผลมากกว่า จึงอาจจะไม่ได้ตอบโต้ทุกคน และไม่อยากตอบโต้มาก
- การทำหน้าที่ทีมโฆษกรัฐบาล ในจังหวะที่การเมืองมีความเข้มข้น ถือว่าเป็นโจทย์ยากหรือไม่
โดยส่วนตัวมองว่าไม่ได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่เข้ามาสู่การเมืองระดับชาติแบบนี้ จึงมองว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และเป็นประสบการณ์ อีกอย่างหนึ่งคือเราไม่ได้ทำหน้าที่คนเดียว เรามีทีมโฆษกทั้งทีมที่ต้องช่วยเหลือกัน
- เป้าหมายของการเป็นกระบอกเสียงรัฐบาล คืออะไร และอยู่ตรงจุดไหน
แน่นอนว่า สิ่งที่เราทำต้องตอบโจทย์กับประชาชน ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งนี้ แต่เราก็ยังมีญาติ มีพ่อแม่พี่น้องที่เป็นประชาชน เขาต้องเข้าใจว่ารัฐบาลทำอะไรให้เขาบ้าง เขากำลังจะได้รับอะไร และเขาจะต้องทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่ประชาชนเข้าใจ คือเป้าหมายของเรา ในการที่ทำให้เขารับรู้แต่กว่าจะทำได้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
อาทิ การแถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อมติครม.ออกมาแล้ว ใช่ว่าประชาชนจะรับรู้ได้เลย การสื่อสารจะสามารถไปถึงประชาชนหรือไม่นั้น เป็นความยาก เนื่องจากมีความหลากหลายของข้อมูล และประชาชนเลือกได้ว่าเขาจะดูหรือไม่ดูอะไร เป็นโจทย์ที่ท้าทาย
เพราะบางครั้งหลังจากที่เราแถลงข่าวเสร็จแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าจะจบเลย เราต้องไปดูว่าหน่วยงานใด ที่จะสามารถอธิบายเรื่องนี้ให้กับประชาชนได้ และประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด หรือเราอาจจะใช้กลไกอื่น ๆ ต้องประสานงานหลากหลาย
แต่สุดท้ายคือ ทำให้ตอบโจทย์ของประชาชน เป้าหมายของเราคือ สิ่งที่เราสื่อสารไปถึงประชาชนและเขารับรู้ แน่นอนว่า ประชาชนคงไม่ได้ชอบเราทั้งหมด แต่ไม่เป็นไร เพราะนี่คือสิ่งที่เขาจำเป็นจะต้องได้ ต้องรู้ เป็นสิทธิประโยชน์ของเขา ถ้าเขารับรู้แล้วจะด่าเรา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราก็ต้องทำ