หมอ แนะวิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง ออกกำลังกาย และ ดื่มน้ำขั้นต่ำวันละ 2.5 ลิตร
เกาะติดการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซค์ ยังคงมุ่งเน้นการให้ความรู้ดูแลสุขภาพแบบศาสตร์องค์รวม ให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปปฏิบัติและดูแลสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัวให้แข็งแรง ปลอดภัยและลดการใช้ยา
ในช่วงบรรยายวิชาการ แพทย์หญิงจิตปภา พงศ์มรกต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ระบบประสาท โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวในหัวข้อ “ภัยเงียบโรคหลอดเลือดในสมอง” ว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะ ในโซนเอเชียมีปัญหาโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมาก โดยพบว่า ประชากรไทย โดยเฉพาะ เพศชาย พบเป็นโรคหลอดเลือดมากขึ้น อายุเฉลี่ยที่ 75-80 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น
ทั้งนี้ โรคสโตรค มีหลายแบบ เช่น หลอดเลือดตีบมีไขมันอุดตันในเส้นเลือด หลอดเลือดแตกอันตรายมากและมีอัตราการตายสูง หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดฉีกขาดที่คอ หลอดเลือดผิดปกติ โดยมีปัจจัยเสี่ยงเกิดจาก การสะสมของไขมันที่อุดตันในหลอดเลือด ทำให้สมองไม่ได้รับเลือด เป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เซลล์สมองได้รับผลกระทบ
แพทย์หญิงจิตปภา กล่าวต่อว่า อาการบ่งชี้ของโรคสโตรคเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน คือ ปากเบี้ยว มักเกิดขึ้นที่บริเวณมุมปาก แขนขาอ่อนแรง เดินเซ พูดไม่ชัด ตามองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน ปวดศรีษะมาก เวียนศรีษะ หากมีอาการดังกล่าวให้รีบโทร 1669 ทันที และรีบไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด เนื่องจาก การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง หากมีการรักษาช้า ทุกๆ 1 นาที ผู้ป่วยจะสูญเสียเซลล์สมอง 1.9 ล้านเซลล์ โดยแพทย์ใช้วิธีการรักษาให้ยาสลายลิ่มเลือด และ ใส่สายสวนขยายหลอดเลือดภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับวิธีการตรวจวินิจฉัยนั้น แพทย์จะใช้วิธีการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง หาสาเหตุของการเกิดโรคสโตรคที่แท้จริง รวมถึง การตรวจหัวใจ เช่น มีลิ่มเลือดในหัวใจ การเต้นของหัวใจ ร่วมด้วย เพื่อวางแนวทางและการใช้ยาที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดในสมองแตก เป็นภาวะที่มีความรุนแรงและอัตราการตายสูง อาการบ่งชี้ ปวดศรีษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็ว รวมถึง โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแตกได้ เกิดจากความดันในร่างกายที่สูงเกินกว่าปกติ โดยผู้ป่วยต้องหมั่นตรวจวัดความดัน เพื่อตรวจเช็กว่าร่างกายมีความดันปกติหรือไม่ และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดโรค เช่น อายุมากขึ้น ความดันสูง พันธุกรรม สูบบุหรี่ และ ดื่มแอลกอฮอล์
แพทย์หญิงจิตปภา กล่าวแนะนำวิธีช่วยให้ห่างไกลจากโรคสโตรค ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เช่น ผัก ผลไม้ ปลา ถั่ว ออกกำลังกายเช่น แอโรบิค นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง และ ตรวจสุขภาพ โดยวิธีการตรวจเช็กเลือด และ ตรวจความดัน รวมถึง เลิกสูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์
ปัจจุบัน โรงพยาบาลศิริราช ได้ใช้รถโมบาย์ที่มีเครื่องทีซีสแกนสมองภายในรถ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยสโตรคอย่างเร่งด่วน ซึ่งภายในรถมีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย มีหมอและพยาบาลประเมินอาการคนไข้ ซึ่งเป็นการช่วยย่นระยะเวลาการให้ยาสลายลิ่มเลือดกับผู้ป่วย เป็นการดูแลที่เข้าถึงผู้ป่วยสโตรคมากขึ้น ก่อนที่จะนำผู้ป่วยส่งเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล สำหรับวิธีการฟื้นฟูสมองของผู้ป่วยสโตรค จะใช้วิธีการรักษาด้วยยา และ ใช้วิธีกายภาพบำบัด
นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ความจำเสื่อมและพาร์กินสัน” ว่า อัลไซเมอร์ คือโรคหนึ่งทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น สาเหตุเกิดจาก โปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
นอกจากนี้ อายุ จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น เพราะ สถิติในปัจจุบันพบว่ากลุ่มที่มีอายุราว 65 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 5 กลุ่มผู้ที่มีอายุราว 75 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 15 และกลุ่มผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากถึงร้อยละ 35-40 ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันคนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ โรคอัลไซเมอร์ สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่พบเป็นส่วนน้อย คือ ประมาณร้อยละ 5 โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50-60 ปี
อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์อาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ หลงผิด หาของไม่เจอแล้วคิดว่ามีคนขโมย ได้ยินเสียงแว่ว ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้
ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คิดอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ คิดว่าคู่สมรสนอกใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ยากต่อการดูแลและเข้าสังคม และ ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี โดยแพทย์จะใช้วิธีการวินิจฉัย เช่น การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจเลือดเพื่อหาเหตุอื่นๆ เช่น ตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน ตรวจหาวิตามิน ตรวจหาโรคซิฟิลิส ตรวจ MRI หรือ CT สแกนสมอง
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่มียาชะลอโรคเพื่อให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น และ ยาทางจิตเวชเพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าว วิธีการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ และอดทน หลีกเลี่ยงการปะทะไม่โต้เถียง ระวังของมีคมหรือของติดไฟง่าย ระวังหายออกไปจากบ้าน พบแพทย์ตามนัด สำหรับวิธีดูแลร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
นอกจากโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดจากการเสื่อมของสมองและระบบประสาทแล้ว ยังมีโรคพาร์กินสันที่พบได้บ่อยและปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดสถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกประมาณร้อยละ 1 ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปี สำหรับในประเทศไทยมีการเก็บรวบรวมสถิติการเกิดโรค จากสภากาชาดไทย พบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งพบมากในประชากรแถบภาคกลางของประเทศ คนไทยสมัยโบราณรู้จักโรคพาร์กินสันมานานแล้วในนามของ ‘โรคสันนิบาตลูกนก’
อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้แก่ การเคลื่อนไหวช้า อาการสั่นของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในท่าพักแต่ดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว และอาการเกร็งไม่แกว่งแขน ตัวแข็งเกร็ง พูดเสียงเบาและช้าลง เขียนหนังสือตัวเล็กลงกว่าเดิม อาจมีการได้กลิ่นลดลง ท้องผูก ความผิดปกติทางด้านอารมณ์ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือ ร้องตะโกนขยับแขนขาอย่างรุนแรงในขณะหลับ
ดังนั้น การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน แพทย์ใช้วิธีการซักถามประวัติและการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าการตรวจการทำงานของสมองที่เรียกว่า Functional MRI เช่น F-Dopa Pet Scan เป็นการตรวจวัดความผิดปกติของสารโดพามีนในสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่มีราคาแพง วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินเป็นการรักษาด้วยการใช้ยา แต่บางรายแพทย์อาจใช้การผ่าตัดฝังตัวกระตุ้น การให้สารโดพามีนอย่างต่อเนื่องทางลำไส้เล็ก ปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันเป็นการประคับประคองอาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
นายแพทย์เขษม์ชัย กล่าวแนะนำ วิธีการป้องกันโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน เช่น การนอนหลับพักผ่อนที่ดี อย่างน้อย 7 ชั่วโมง ไม่เกินเวลา 23.00 น การดื่มน้ำอย่างน้อย 2.5 ลิตรต่อวัน ช่วยให้ระบบเลือดในร่างกายหมุนเวียนได้ดี การออกกำลังกาย เช่นแอรโรบิค โยคะ และ การเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน